เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่สำนักงานศาลปกครองสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ
นายสุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ในฐานะผู้ฟ้อง กทม. และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กรณีร่วมกันก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) โดยไม่มีการก่อสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการพร้อมด้วยผู้พิการและผู้สูงอายุประมาณ 100 คน เดินทางมารับฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีดังกล่าว
จากนั้นนายสมชาย เอมโอช ตุลาการเจ้าของสำนวน และคณะมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง
โดยมีคำสั่งให้ กทม.และผู้ว่าฯ กทม. จัดทำลิฟต์ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้ง 23 สถานี และให้จัดทำอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก ทั้ง 23 สถานี รวมทั้งจัดทำอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้า โดยให้จัดที่ว่างสำหรับเก้าอี้เข็นคนพิการ ให้มีความกว้างไม่น้อยกว่า 120 ซม. และให้ราวจับ สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 80 ซม. บริเวณทางขึ้นลงและติดสัญลักษณ์คนพิการไว้ทั้งในและนอกตัวรถที่จัดให้สำหรับคนพิการ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2542) ออกตามความใน พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 และตามระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการว่าด้วยมาตรฐานอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการพ.ศ.2544 ทั้งนี้ให้ดำเนินการตามคำสั่งศาลให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หลังจากมีคำพิพากษา
ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษา นายสุภรธรรม ให้สัมภาษณ์ว่า
รู้สึกตื้นตันใจเพราะคำพิพากษาครั้งนี้เป็นการสร้างความเป็นธรรมและเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม เป็นสิ่งที่เรารอคอยมานานและถือว่าคุ้มค่ามากโดยหลังจากนี้เราจะต้องติดตามการดำเนินการตามคำสั่งศาลของ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะใช้คำพิพากษานี้เป็นบรรทัดฐานในการพูดคุยเพื่อให้เกิดการอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มคนพิการเรียกร้องให้มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการตั้งแต่ปี 2538
ก่อนรถไฟฟ้าบีทีเอสจะเปิดใชังานในปี 2542 แต่ภายหลังการเปิดให้บริการ ตัวแทนคนพิการเห็นว่าไม่ได้มีการดำเนินการดังกล่าวทำให้มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2550 และต่อมาแต่ศาลได้ยกฟ้องในวันที่ 22 กันยายน 2552 ทั้งนี้เหตุผลที่ศาลปกครองกลางยกฟ้องในขณะนั้นให้เหตุผลว่า แม้มีกฎหมายว่าด้วยคนพิการตั้งแต่ปี 2534 แต่การที่กฎหมายกำหนดเพียงหลักการว่า ให้มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับคนพิการ แต่ไม่ได้กำหนดลักษณะอุปกรณ์ไว้โดยละเอียด กรุงเทพมหานคร และบริษัทบีทีเอสย่อมไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร จึงไม่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
จากนั้นตัวแทนคนพิการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดในเดือนตุลาคม 2552 ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาจนได้รับชัยชนะสิ้นสุดการรอคอยที่ยาวนานถึง 7 ปี
สำหรับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่ดำเนินจัดสร้างลิฟต์สำหรับผู้พิการแล้วมีเพียง 5 สถานีจากทั้งหมด 23 สถานี ได้แก่ สยาม หมอชิต ช่องนนทรีย์ สนามกีฬากลางแห่งชาติ และอ่อนนุช โดยแต่ละสถานีมีลิฟต์เพียง 1 ตัว ซึ่งไม่สามารถช่วยอำนวยความสะดวกคนพิการได้จริง เพราะในความเป็นจริงควรมีทั้งสิ้น 4 จุด