เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวง พม. เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองเด็ก สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ดได้รายงานเบื้องต้นให้ทราบว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายชิเกตะ มิตซูโตกิ ชาวญี่ปุ่นอายุ 24 ปี ซึ่งจ้างหญิงไทยตั้งครรภ์แทน หรืออุ้มบุญ ได้มอบหมายทนายดำเนินการฟ้องร้อง พม. ต่อศาลแพ่ง จ.นนทบุรี กรณีนำลูกของนายชิเกตะไปครอบครอง ซึ่งฝ่ายนิติกรของ พม.จะต้องไปรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงในการชี้แจงต่ออัยการ ทั้งนี้โดยหลักการในการทำหน้าที่ของ พม.นั้น ถือว่าเป็นสิทธิในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่จะต้องให้ความคุ้มครองและดูแลเด็กอุ้มบุญ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปจับกุมตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติใน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
ด้านนายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ....กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ฯ ว่า ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดในสิ่งที่กฎหมายยังไม่ระบุให้ครอบคลุม โดยเฉพาะประเด็นการให้ความคุ้มครองเด็กที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และให้ความสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนี้ในร่าง พ.ร.บ.ยังให้การดูแลหญิงที่รับหน้าที่ตั้งครรภ์แทน น้อยมาก แต่ไปเน้นในเชิงเทคโนโลยี ดังนั้นจะต้องดูแลและให้ความคุ้มครองหญิงที่ตั้งครรภ์แทนด้วย รวมทั้งความชัดเจนของสามีภรรยาที่ต้องจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายไทย จึงจะสามารถให้ผู้อื่นตั้งครรภ์แทนตามเงื่อนไขที่ระบุในกฎหมาย
นายวัลลภ กล่าวอีกว่า กรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นชาวต่างชาติและจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขว่าจะต้องจดทะเบียนมาแล้วไม่ต่ำกว่ากี่ปี ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพื่อป้องกันกรณีชาวต่างชาติมาใช้มดลูกหญิงไทยเป็นอู่ในการผลิตเด็ก อย่างไรก็ตามกรรมาธิการฯ จะประชุมในรายละเอียดอีก 2-3 ครั้ง ก่อนที่จะเสนอ สนช.วาระ 2 และ 3 ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เด็กอุ้มบุญที่เกิดจากน้ำเชื้อของนายชิเกตะ ซึ่งจ้างหญิงไทยตั้งครรภ์นั้น ยังอยู่ในการดูแลของสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด 13 คน และยังไม่สามารถนำกลับไปญี่ปุ่นได้ เนื่องจากคดียังไม่สิ้นสุด