ผกก.ราษีไศล นำกำลังบุกบ้านช่างซ่อมรถยนต์โพสต์ภาพย่างแมวกิน-ฆ่าสุนัข สารภาพแค่อุ้มหมาเพื่อนบ้านถ่ายเล่นยังมีชีวิตอยู่ ส่วนแมวโดนรถชนตายกลางถนนเลยนำมาย่างเป็นกับแกล้ม พร้อมขอโทษสังคมทำไปด้วยความคึกคะนอง รอดคดี พรบ.ทารุณกรรมสัตว์ที่เพิ่งประกาศใหม่
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 5 ม.ค. ผู้สื่อข่าว“เดลินิวส์” ประจำ จ.ศรีสะเกษ
ได้รับการประสานจากเครือข่ายประชาชนต่อต้านการค้าสุนัขข้ามชาติ หรือดับเบิลยูดีที ให้ช่วยตรวจสอบกรณีเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า“วิรุณพันธ์ เขียวอ่อน” โพสต์ภาพอุ้มสุนัข คู่กับภาพย่างแมว พร้อมข้อความบรรยายภาพว่า "วันนี้จัดอีกชุด ชุดนี้ชุดใหญ่" ซึ่งเกรงว่า จะเข้าข่ายผิด พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ พศ.2557 จึงเดินทางไปที่ หมู่14 บ้านผึ้ง ต.หนองแค อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ซึ่งระบุว่าเป็นสถานที่เกิดเหตุ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ชัชวาลย์ แก้วจันดี ผกก.สภ.ราษีไศล และ พ.ต.ต.ไพฑูรย์ บุญเติม สว.สส. พบนายวิรุณพันธ์ เขียวอ่อน อายุ 40 ปี อาชีพช่างซ่อมรถยนต์ ซึ่งเป็นผู้โพสต์ภาพ ตำรวจจึงเชิญตัวมาทำการสอบสวนยัง สภ.ราษีไศล พร้อมพวกรวม 5 คน
โดย นายวิรุณพันธ์ ให้การว่า เป็นการโพสต์เล่นๆ ด้วยความคึกคะนองไม่ได้คิดอะไร ไม่คิดว่าจะกลายเป็นเรื่องใหญ่
ก่อนเกิดเหตุตนกับพวกกำลังตั้งวงดื่มสุราฉลองเทศกาลปีใหม่ พบซากแมวถูกรถชนตายอยู่กลางถนน จึงนำมาย่างกินเป็นกับแกล้ม ส่วนสุนัขที่อุ้มถ่ายภาพโชว์นั้น ไม่ได้ฆ่าตามที่โพสต์แต่อย่างใด หลังจากที่ตนโพสต์ภาพไปแล้วไม่กี่ชั่วโมง ปรากฏว่ามีผู้แอดเพื่อนเข้ามามากมาย เพื่อคอมเม้นต์ต่อว่าด่าถอ ด้วยถ้อยคำรุนแรง บางรายก็ส่งข้อความมาสาปแช่งจนตนต้องรีบลบภาพดังกล่าวออกจากเฟซบุ๊ก อีกทั้งเพื่อนร่วมงานและเพื่อนสนิทก็โทรมาตำหนิตน จึงอยากฝากขอโทษผ่านสื่อมวลชนที่ทำไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่คิดว่าเหตุการณ์จะบานปลาย
พ.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวว่า ตรวจสอบแล้วพบว่าสุนัขเพศเมีย สีน้ำตาลแดง วัย 5 ปี ซึ่งมีชื่อว่า “ชิมิ” ยังมีชีวิตอยู่
โดย นายประกอบ หารชัย เจ้าของสุนัขยืนยันว่า นายวิรุณพันธ์เพื่อนบ้าน ได้นำมาถ่ายภาพ เพื่อโพสต์เฟซบุ๊กเล่นไม่ได้มีจุดประสงค์ร้ายต่อเจ้าชิมิแต่อย่างใด ส่วนแมวที่นำมาย่างเป็นกับแกล้มนั้นมีพยานซึ่งเป็นอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายเรือน (อปพร.) ประจำจุดตรวจหนองแคยืนยันว่า แมวเคราะห์ร้ายตัวดังกล่าวถูกรถชนจนตาย ก่อนที่จะถูกนำมาย่างกิน ทั้งนี้ ยังไม่ถือว่าผิด พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2557 ที่ผ่านมา ซึ่งมีโทษตามคดีอาญาจำคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท ส่วนการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จตาม พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จำต้องมีการสร้างความเสียหายต่อผู้อื่น กรณีนี้จึงไม่มีเจ้าทุกข์แต่อย่างใด..