ชาวบ้านตะลึง พบพระพุทธรูปเรืองแสงได้ในความมืดประดิษฐานอยู่ภายในวิหารของสำนักสงฆ์ดอยวังเฮือ เมืองลำปาง เจ้าสำนักสงฆ์ผู้สร้างเผย เกิดจาการผสมสารบางอย่างที่หล่อเข้าไปในตัวพระ เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาเวลาอยู่ในที่มืด ด้านนักวิชาการจุฬาฯ คาดเกิดจากสาร “ฟอสฟอร์”
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากหลวงพ่อภูริปัญโญ ภิกขุ เจ้าสำนักสงฆ์ดอยวังเฮือ บ้านผาลาด ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง ว่า
มีพระพุทธรูปสามารถเรืองแสงได้ในความมืด จึงเดินทางไปตรวจสอบ พบพระพุทธรูปพระพุทธเจ้า หรือ "พระโคตมพุทธเจ้า" ตั้งประดิษฐานอยู่ภายในวิหารของสำนักสงฆ์ฯ ซึ่งเวลาปกติจะเห็นเป็นองค์สีขาวนวล แต่หากอยู่ในความมืดแล้ว พระพุทธรูปองค์นี้จะเรืองแสงเป็นสีเขียวมรกตทันที สร้างความตื่นตาและเป็นที่ประหลาดใจแก่ที่ผู้พบเห็น
ด้าน หลวงพ่อภูริปัญโญ ภิกขุ เปิดเผยว่า สำนักสงฆ์ฯแห่งนี้เคยเป็นสำนักสงฆ์เก่าแก่ที่มีพระเกจิอาจารย์หลายรูปมาจำพรรษา
เช่น หลวงพ่อเมือง (พระครูอะดมเวชวรกุล) เจ้าอาวาสวัดท่าแหน อ.แม่ทะ จ.ลำปาง พระเกจิชื่อดังของ จ.ลำปาง เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ได้มาใช้สถานที่แห่งนี้ปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ วิปัสสนากรรมฐาน และได้เริ่มสร้างเจดีย์และกุฏิขึ้น กระทั่งหลวงพ่อได้มรณภาพลงลงในปี 2519 จากนั้นสำนักสงฆ์ฯก็เริ่มขาดการดูแล จนกระทั่งถูกปล่อยให้รกร้างมาเป็นเวลาหลายสิบปี ต่อมาเมื่อปี 2553 ลูกศิษย์ได้นิมนต์ให้ตนมาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์นี้ จึงได้ร่วมกับลูกศิษย์พัฒนาพื้นที่ จากนั้นก็เริ่มสร้างพระพุทธรูปพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ตั้งประดิษฐานรอบๆสำนักสงฆ์ ตั้งแต่ทางขึ้นไปจนถึงภายในวิหาร แต่ที่พิเศษคือพระพุทธรูปพระพุทธเจ้าองค์ที่ 28 ซึ่งตั้งอยู่ในวิหารที่สามารถเรืองแสงได้ ทั้งนี้เกิดจาการผสมสารบางอย่างที่หล่อเข้าไปในตัวพระ เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาเวลาอยู่ในที่มืดจนทำให้เรืองแสงได้ ถือว่าน่าจะมีองค์เดียวในประเทศไทย
ขณะที่อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ได้อธิบายว่า อาจเป็นเพียงสารเคมีชื่อว่า “สารฟอสฟอร์” (phosphor) ที่ใช้ผสมกับสีในการหล่อพระพุทธรูป รวมทั้งสามารถนำไปผสมกับตัวกลางต่างๆ ในการนำไปใช้งานได้หลายรูปแบบ อาทิ นำไปใช้ในการทำสีทา พ่น เพ้นท์ พิมพ์กระดาษ พลาสติก เซรามิกส์ แก้วหรือพิมพ์ผ้า ซึ่งสามารถดูดซับแสงและทำให้เกิดการเรืองแสงหลังจากแหล่งแสงหมดไป อีกทั้งมีอายุการใช้งานได้นาน ไม่มีสารอันตรายและสารกัมมันตรังสี
“สารฟอสฟอร์ มีองค์ประกอบทางเคมีหลายแบบ ซึ่งจะเรืองแสงขึ้นเวลามีตัวแปลมากระตุ้น เช่น แสงไฟหรือแสงอัลตร้าไวโอเล็ต อย่างที่พบในพวกของเล่นเรืองแสง อีกทั้งสีที่เรืองออกมา จะขึ้นอยู่กับชนิดของสารฟอสเฟอร์ เช่น CaWO4 ให้แสงสีฟ้า Zn2SiO4:Mn ให้แสงสีเขียว และ Y2O2S:Eu ให้แสงสีแดงส่วนสารลูซิเฟอริน (luciferin) ที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตนั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับกรณีเช่นนี้ แต่สามารถพบได้ในสิ่งมีชีวิตหลายชนิด ทั้งหิ่งห้อย แมงกะพรุน หอยทากบางชนิด แบคทีเรีย รวมถึงสาหร่ายในทะเล ที่บางทีเราเห็นเป็นพรายน้ำอยู่ริมทะเล"อาจารย์เจษฎา กล่าว.