"อธิบดีกรมควบคุมโรค" พบเชื้ออหิวาเทียมในเลือดไก่ ทำโรคอาหารเป็นพิษระบาดอีสาน-เหนือ ชี้มักปะปนใน "ข้าวมันไก่-ลาบไก่"ที่มีเลือดผสมอยู่ สั่งโรงงานผลิต เร่งปรับปรุงก่อนระบาดหนัก
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยกับ "เดลินิวส์" ว่า
แม้ขณะนี้กรมควบคุมโรคจะขาดแคลนนักระบาดวิทยา เพราะติดปัญหาเรื่องค่าตอบแทน และความก้าวหน้าในวิชาชีพ แต่จากการลงพื้นที่ของนักระบาดวิทยา 20 คน ตรวจหาอันตรายจากโรคติดเชื้อต่างๆ ตั้งแต่โรคอาหารเป็นพิษ จนถึงโรคติดเชื้อรุนแรง โดยจากข้อมูลใน จ.เชียงใหม่ พบการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษ ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ย. 57 จากการตรวจสอบในเชิงลึกพบว่าเกิดจากการรับประทานข้าวมันไก่ถึง 15 เหตุการณ์ และเมื่อทบทวนรายงานการสอบสวนโรคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่ พบเชื้ออหิวาเทียม (Vibrio parahaemolyticus) ถึง 13 เหตุการณ์ ซึ่งเกิดจากก้อนเลือดไก่ ในข้าวมันไก่ โดยเป็นเลือดไก่ที่มาจากโรงงานผลิตแห่งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ยังพบการระบาดลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ธ.ค.พบรายงานการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษที่เกี่ยวข้องกับไก่
และผลิตภัณฑ์จากไก่ในเขตรับผิดชอบของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ทั้งหมด 20 เหตุการณ์ จำนวน 1,410 ราย กระจายไป 7 จังหวัด ได้แก่ จ.กาฬสินธุ์ ขอนแก่น หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด โดยพบการระบาดมากที่สุดในเดือน พ.ย.และสงสัยมาจากอาหารที่มีเลือดไก่เป็นส่วนประกอบ อาทิ ข้าวมันไก่ ลาบไก่ที่ผสมเลือด ตามลำดับ ซึ่งขณะนี้ได้แจ้งไปยังโรงงานผลิตเลือดไก่ ขอให้ปรับปรุง ซึ่งเร็วๆ นี้กรมควบคุมโรคได้เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบซ้ำ
นพ.โสภณ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่านักระบาดวิทยามีความสำคัญมาก เพราะข้อมูลข้างต้นได้มาจากการลงตรวจสอบในพื้นที่
ดังนั้น นักระบาดจึงเป็นเหมือนนักสืบที่มีความสำคัญในการทราบว่าแหล่งโรคมาจากที่ใด เพื่อป้องกันได้ตรงจุด และจากปัญหาความขาดแคลนบุคลากรตรงนี้ ตนได้ทำหนังสือถึงนพ.รัชจะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ให้พิจารณาปรับค่าตอบแทนให้กับบุคลากรกลุ่มนี้ และระหว่างการพิจารณาอยู่นั้น กรมควบคุมโรคได้จัดระบบในการสร้างแรงจูงใจให้กับแพทย์ระบาดวิทยาด้วยการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงรายวันสำหรับคนลงพื้นที่ภาคสนามจากวันละ 100 กว่าบาท เป็น 200 บาทต่อวัน ขณะเดียวกันก็เร่งผลิตบุคลากรกลุ่มนี้เพิ่มด้วยการอบรมบุคลากรสายเชี่ยวชาญอื่นๆ เบื้องต้นจะพยายามให้ได้ 30-40 คน เพราะการผลิตนักระบาดระดับผู้เชี่ยวชาญโดยตรง อาจจะค่อนข้างยาก.