อึ้ง คุณแม่ยังสาวบังคับลูกสัญญาต่อหน้าแมลงสาบ ว่าจะยอมกินข้าว ไม่ดื้อ ไม่กรีดร้อง
เมื่อวันที่14 ธ.ค.ผู้สื่อข่าว “เดลินิวส์ออนไลน์”รายงานว่า ผู้ใช้เฟสบุ๊กรายหนึ่งโพสต์คลิปวิดีโอ“สัญญา ต่อหน้าแมลงสาบ”
ความยาว 0.46 นาทีเป็นภาพคุณแม่ยังสาวคนหนึ่งกำลังสอนลูกชายวัย 2 ขวบกว่า ให้ยอมกินข้าวเลิกดื้อ เลิกงี่เง่า และเลิกส่งเสียงกรีดร้องโดยบังคับให้ลูกชายสัญญาต่อหน้าแมลงสาบว่าจะไม่ทำอีก ซึ่งเด็กน้อยในคลิปแสดงอาการร้องไห้และหวาดกลัวเจ้าแมลงสาบที่อยู่ต่อหน้าเป็นอย่างมาก จนมีผู้เข้าชมเข้ามาเสดงความคิดเห็นพิพากษ์วิจารณ์อย่างหลากหลาย โดยหนึ่งในนั้นมีการโพสต์ภาพเหตุการณ์ในลักษณะเดี่ยวกันแต่ต่างวันเวลาจนทำให้หลายคนสงสัยว่าคุณแม่ยังสาวท่านนี้จะใช้วิธีนี้เป็นประจำจนส่งผลให้เด็กเกิดความกลัวหรือไม่
ล่าสุดคุณแม่ท่านดังกล่าวได้โพสต์ข้อความตอบโต้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำนี้ว่า
“เราแค่ไม่อยากใช้ไม้หรืออะไรตีลูก มันจะดูรุนแรงกว่านี้อีกแมลงสาบถึงจะไม่ใช่สัตว์ร้ายแต่ก็ไม่ได้เป็นสัตว์ที่น่าเข้าใกล้อยู่แล้ว (ถ้าใครมีลูกซนๆแสบๆ จะเข้าใจนะบางทีมันต้องมีอะไรมาปราบเค้าบ้าง) สุดท้ายนี้ เราไม่เสียใจเลยที่ลูกเรากลัวแมลงสาบเออถ้ากลัวเม็ดแมงลักเหมือนดาราก็ว่าไปอย่าง ณ ตอนนี้ถามลูกว่ายังกลัวแมลงสาบอยู่ไหม เขาพูดเองเลยคะ ว่าไม่กลัวครับเพราะไม่ดื้อ เป็นเด็กดีแมลงสาบไม่กัด เด็กดี”
ด้านพ.ต.ท.พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาลจิตแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว“เดลินิวส์ออนไลน์”
ถึงวิธีการสอนเด็กแบบนี้ว่า“เป็นวิธีการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง ปัญหาด้านการกินของเด็กสามารถพบได้ทั่วไป จริงๆพ่อแม่ไม่ควรบังคับควรพูดคุยด้วยเหตุผล และไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญหรือสนใจมากนัก เพราะยิ่งให้ความสนใจมากเด็กจะรู้สึกว่าเขามีปัญหาเรื่องนี้แล้วเขาได้รับความสนใจเขาจะทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ พ่อแม่ ผู้ปกครองควรทำตัวตามปกติ ฝึกให้เขาดูแลรับผิดการกินด้วยตนเอง ธรรมชาติจะสอนเขาเองว่าถ้าไม่กินจะหิวแล้วร่างกายจะปรับกระบวนการให้เขากิน 3 มื้อด้วยตนเองการลงโทษด้วยการดุด่าใช้อารมณ์ หรือขู่ให้กลัวจะสร้างปัญหาต่อจิตใจสุขภาพจิต ก่อความเครียด เด็กจะคิดว่าพ่อแม่ไม่รัก ขี้กลัว วิตกกังวล เด็กสมัยนี้ฉลาดเขารู้ว่าสิ่งที่พ่อแม่พูดนั้นไม่จริงเขาจะเห็นเป็นเรื่องขำขันและไม่เชื่อถือในคำพูดของพ่อแม่ มองว่าคำพูดของพ่อแม่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ควรพูดคุยตามปกติ ตามความเป็นจริงใช้เหตุผล เช่น ถ้าไม่กินจะเป็นโรคกระเพาะควรอธิบายและให้ความรู้สอดแทรกหากเป็นเด็กเล็กพ่อแม่สามารถใช้วิธีการอธิบายสั้นๆเขาจะค่อยๆซึมซับและเข้าใจได้เอง”