วิจารณ์กระหึ่มรูปฮิตเลอร์โผล่หนังไทยนิยม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงภาพยนตร์ไทยนิยม เรื่อง 30 จัดทำโดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย โดยภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ชื่อ "เรียนรู้ อธิปไตย ของประชา" เป็นเรื่องที่ 7 ของ"ไทยนิยม ภาพยนตร์แห่งการสร้างสรรค์ความดี ค่านิยมหลัก 12 ประการ" กำกับการแสดงโดย กัลป์ กัลย์จาฤก
โดยพบว่าในช่วงไตเติ้ลเริ่มเรื่องนี้ บอกเล่าถึงเด็กชายเพื่อนสนิทกัน 2 คน ทำกิจกรรมต่างๆในโรงเรียน มีทั้งการเรียน การแข่งขันกีฬา ทดลองวิทยาศาสตร์ แต่มาสะดุดตรงที่เรื่องของศิลปะ ปรากฏว่าเป็นภาพเด็กชายวาดรูป แต่กลับวาดรูป "อดอล์ฟ ฮิตเลอร์" จอมเผด็จการของโลกที่ดำเนินนโยบายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว โดยมีเพื่อนข้างๆ ปรบมือชื่นชมผลงาน ซึ่งเรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันว่าไม่เหมาะสม โดยเฉพาะประเด็นที่ผู้จัดสร้างเลือกนำรูป "ฮิตเลอร์" มาเป็นภาพประกอบ
ทั้งนี้ ในปี 2556 เคยเกิดกรณีนิสิตสโมสรนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดตั้งป้ายแบนเนอร์เพื่อใช้ในงานรับปริญญาบัตรเป็นภาพซูเปอร์ฮีโร่ ปรากฏ "ฮิตเลอร์" รวมอยู่ด้วย ทำให้ถูกประณามจากองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวยิว ในนามศูนย์ซีมอน วีเซนธาล ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา จนทางคณบดีของคณะศิลปกรรมศาสตร์ต้องทำหนังสือขอโทษมาแล้ว
ส่วนเมื่อปี 2555 ที่จ.เชียงใหม่ มีกลุ่มนักศึกษามัธยมแต่งกายด้วยชุดนาซีในวันกีฬาสี พร้อมกับปลอกแขนสวัสติกะ และปืนเด็กเล่น โดยผู้หญิงที่เป็นหัวหน้ากลุ่มเป็นเด็กสาวที่แต่งกายในชุดกองทัพนาซีติดหนวดปลอมฮิตเลอร์ ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเฝ้ามองอย่างตกตะลึง จนปรากฏเป็นข่าวและเกิดเสียงประณามจากนานาชาติ บรรดาครูอาจารย์โรงเรียนแห่งนี้ต่างออกมาขอโทษ