เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ผู้ประกอบการร้านอาหารย่านถนนพระอาทิตย์ เขตพระนคร กทม.แห่งหนึ่งซึ่งบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตรียมผลักดันกฎหมาย ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ หรือในวันที่ 31 ธันวาคม – 1 มกราคม และวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี โดยจะเข้าสู่การพิจารณาของ สคอ.ในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ ว่า ไม่เห็นด้วยและเชื่อว่ากลุ่มธุรกิจทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร สถานบันเทิง ต่างก็ไม่เห็นด้วย
ผู้ประกอบการรายนี้ กล่าวต่อว่า เราอยากให้ทางภาครัฐ เห็นใจผู้ประกอบการด้วย
เพราะช่วงเทศกาลแห่งความสุขที่ทุกคนอยากเฉลิมฉลอง และผู้ประกอบการสามารถทำรายได้ ก็น่าจะให้ทำเต็มที่ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการประกาศเคอร์ฟิว ไปแล้ว กว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ หากมีการออกกฎหมายบังคับเช่นนี้ จะเป็นการกดดันกันมากขึ้นหรือไม่
“การดื่มเหล้าไม่ได้ผิดกฎหมาย หรือไปฆ่าใครตาย แต่ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม มองว่าควรไปรณรงค์ในเรื่องอื่นมากกว่าจะออกมาเป็นกฎหมายบังคับ เช่น รณรงค์ให้คนดื่มรู้ลิมิตตัวเอง รณรงค์ดื่มแล้วไม่ควรขับรถออกมาซื้อเหล้าเบียร์อีก ของอย่างนี้อยู่ที่ตัวบุคคล จะโทษร้านขายอย่างเดียวไม่ได้ สิ่งที่อยากตั้งคำถามคือการรณรงค์ต่างๆ ที่ผ่านมามันได้ผลจริงหรือไม่ การที่เกิดอุบัติเหตุมากขึ้นเป็นเพราะอนุญาตให้ซื้อมอเตอร์ไซค์ขับขี่ง่ายขึ้นหรือไม่ หรืออนุญาตให้ขายสุราง่ายขึ้นหรือไม่ อยากให้ลองมองถึงสาเหตุอย่างอื่นด้วยว่าควรเข้าไปแก้ไขหรือไม่” ผู้ประกอบการย่านถนนพระอาทิตย์ ระบุ
ผู้ประกอบการรายดังกล่าว ระบุอีกว่า หากรัฐบาลยืนยันออกกฎหมายนี้มาบังคับจริง ก็คงไม่สามารถไปเรียกร้องอะไรได้
แต่ที่อยากขอ คือลองสำรวจก่อนดีหรือไม่ ว่าหากห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงวันดังกล่าวแล้ว ได้ผลดีจริงหรือไม่ หากได้ผลเกิน 90% ค่อยเรียกนักธุรกิจ ผู้ประกอบการมาคุยกัน หากได้ผลดีเป็นเรื่องที่ดีจริง เราพร้อมยอมรับ และที่ผ่านมาก็ปฏิบัติตามโดยตลอด ไม่จำหน่ายสุราวันพระใหญ่ วันเลือกตั้ง ซึ่งเราขายแค่อาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ ก็ได้ แต่เราเลือกปิดร้านไปเลย การเปิด-ปิดร้าน ก็ตามเวลาที่กำหนด และไม่ขายให้นักศึกษาในเครื่องแบบ
“คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดน่าจะเป็นคนดื่มมากกว่า เพราะมีจำนวนมากกว่าผู้ประกอบการ ยิ่งช่วงเทศกาลแห่งความสุข คนก็อยากออกมาฉลอง มาเจอเพื่อนฝูง ทำงานมาทั้งปีได้รับโบนัสก็อยากจะมาผ่อนคลาย ครั้นจะให้ดื่มอยู่ที่บ้านก็คงไม่ได้อารมณ์เท่ากับมานั่งตามร้าน เรียกง่ายๆ ว่าคงเซ็ง อีกประการหนึ่งคือแม้ร้านเราจะเปิดเป็นร้านอาหาร แต่สาเหตุที่มีลูกค้าเข้ามาในร้านเป็นเพราะต้องการเข้ามานั่งดื่มและฟังดนตรีสด” ผู้ประกอบการรายนี้กล่าวทิ้งท้าย