แชร่ว่อน! รพ.พิลึกติดประกาศห้ามท้อง รุมจวกละเมิดสิทธิ์-ขัดกม.แรงงาน

แชร่ว่อน! รพ.พิลึกติดประกาศห้ามท้อง รุมจวกละเมิดสิทธิ์-ขัดกม.แรงงาน

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นในโลกออนไลน์ว่า มีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
 
ได้มีการติดประกาศที่สร้างความงุนงงให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง โดยประกาศดังกล่าวติดไว้ที่ แผนกจ่ายยาของโรงพยาบาลดังกล่าว มีใจความว่า "ประกาศ.... ตั้งแต่ 30 ต.ค.57- 31 ธ.ค.58 เจ้าหน้าที่ผู้หญิงทุกท่านให้กินยาคุมกำเนิด (ห้ามท้อง) ถ้าท้องให้ลาออกไปเลย" โดยในประกาศดังกล่าว ยังให้เจ้าหน้าที่เซ็นชื่อรับทราบในแผ่นประกาศด้วย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงเซ็นชื่อรับทราบกว่า 30 คน พร้อมกำกับวันเดือนปีที่ลงชื่อรับทราบไว้ด้วย

สำหรับคำสั่งดังกล่าวก็เกิดวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความเห็นกันกว้างขวาง บางคนเห็นว่าหน่วยงานดังกล่าว อาจอยู่ในช่วงขาดแคลนบุคคลกร

จึงจำเป็นต้องบังคับไม่ให้เจ้าหน้าที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ในช่วงนี้ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ขาดแคลนเจ้าหน้าที่อีก แต่ส่วนใหญ่เห็นว่าการออกคำสั่งดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน อีกทั้งขัดกับกฏหมายแรงงานที่อนุญาตให้ลาคลอดได้ 

ผู้สื่อข่าวไปสอบถามไปทางผู้บริหารของโรงพยาบาลหลายแห่งในย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

โดยนพ.อุดม เชาวรินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเชื่อว่าไม่น่าเป็นไปได้ และโรงพยาบาลราชวิถีไม่เคยมีนโยบายจำกัดสิทธิของบุคคลากรแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวอาจเป็นเพียงแค่ข่าวลือ เพราะแหล่งที่มาของข่าวในสังคมออนไลน์ ไม่ได้มีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม จะมีการตรวจสอบอีกครั้งว่าเป็นคำสั่งภายในหน่วยงานเองหรือไม่

ด้าน พญ.ศิริภรณ์ สวัสดิวร ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) เปิดเผยเรื่องเดียวกันว่า ยืนยันว่า ไม่มีกรณีดังกล่าวในโรงพยาบาลแน่นอน เพราะโรงพยาบาลส่งเสริมเรื่องการตั้งครรภ์ และการเลี้ยงดูบุตรด้วยนมแม่ด้วยซ้ำ

นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า

 ตนขอยืนยันว่า โรงพยาบาลไม่มีการห้ามเจ้าหน้าที่หญิงตั้งท้องอย่างแน่นอน เนื่องจากการตั้งท้องถือเป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล
ขณะที่ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวถึงประกาศเรื่องห้ามท้อง ว่า การมีคำสั่งห้ามท้องนั้นเป็นการละเมิดสิทธิเนื้อตัวร่างกาย และสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งไม่สามารถกำหนดและออกกฎในลักษณะเช่นนี้ได้ เนื่องจากเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล อีกทั้งยังถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ห้ามให้เพศหญิงตั้งท้อง โดยในบางสังคม สามียังไม่สามารถบังคับให้ภรรยามีหรือไม่มีลูกได้เลย อีกทั้งในกฎหมายแรงงาน ยังระบุว่าไม่สามารถออกกฎในลักษณะดังกล่าวได้ ในสถานที่ทำงาน 

น.ส.พรเพ็ญ กล่าวต่อว่า หากคำสั่งดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ผู้หญิงในสถานที่ทำงานนั้นสามารถร้องเรียน หรือฟ้องเลิกให้ยกเลิกคำสั่ง และประกาศดังกล่าวได้ นอกเสียจากมีแรงจูงใจว่า หากไม่ท้องในช่วงดังกล่าว จะได้เงินเพิ่มหรือมีค่าตอบแทนพิเศษ แต่อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและหากเป็นเรื่องจริง ต้องมีการดำเนินการฟ้องร้องให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว

ส่วน นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
 
กล่าวว่า ตอนนี้มีกฎหมายลาคลอด ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หากมีคำสั่งหรือข้อห้ามออกมาในลักษณะเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย นายจ้างที่ออกคำสั่งออกมาต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายระบุอย่างชัดเจนว่าผู้หญิงที่ท้องสามารถลาคลอดได้ 90 วัน ไม่ว่าจะลาก่อนหรือหลังคลอดก็สามารถทำได้ ซึ่งเรื่องนี้กรมคุ้มครองสวัสดิการแรงงาน และกระทรวงแรงงานต้องเข้าไปตรวจสอบและดูแล หากมีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริงต้องดำเนินคดีกับนายจ้าง และหากเคยมีคนถูกบังคับให้ลาออกจากกรณีนี้ ก็สามารถเรียกร้องเงินชดเชยได้

นายจะเด็จ กล่าวต่อ การตั้งท้องนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิทางธรรมชาติ ส่วนบุคคลจะไม่สามารถห้ามหรือบังคับไม่ให้มีได้

โดยก่อนหน้านี้ ที่สิทธิแรงงานอนุญาติให้เพศหญิงลาคลอดได้เพียง 30 วัน เคยมีหญิงตั้งครรภ์ที่ทำงานต้องรัดหน้าท้องเวลาทำงาน แอบคลอด ทำแท้ง หรือบางคนต้องแอบมีลูกแบบหลบๆซ่อนๆ ซึ่งส่งผลกระทบเรื่องปัญหาสุขภาพตามมากับหญิงเหล่านั้น

“สถานที่ทำงานมักออกประกาศหรือคำสั่งที่กดขี่เพศหญิงมาโดยตลอดเนื่องจากยังมีความคิดว่าชายเป็นใหญ่ และมองเพศหญิงเป็นเพศที่ความสามารถด้านการทำงานไม่เท่ากับเพศชาย และจะกำหนดกฎระเบียบที่กระทบเพศหญิงมาโดยตลอด ซึ่งนายจ้างควรเปลี่ยนทัศนคติดังกล่าว เนื่องจากในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือเพศชายก็มีความสามารถมนการทำงานไม่ต่างกัน” นายจะเด็จ กล่าว

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์