กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เร่ง แก้ปัญหาเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 (ป.3) ทั่วประเทศประมาณ3.5หมื่นคนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
ขณะที่อีก 2 แสนคน อ่าน เขียนไม่คล่องโดยนายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมว่า การทำงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ปีนี้ นอกเหนือจากเน้นพัฒนาระบบการศึกษาแล้ว ยังจะเดินหน้าแก้ปัญหาสำคัญคือ ปัญหาเรื่องการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ซึ่งตนมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ไปเร่งสำรวจการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนระดับ ป.3 ทั่วประเทศประมาณ 6 แสนคน พบว่า นักเรียนชั้น ป.3 มีปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้เลย จำนวน 35,000 คน คิดเป็น 5% และอีกประมาณ 2 แสนคน หรือ 1 ใน 3 ของนักเรียนมีปัญหาอ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่อง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ที่ผ่านมาแต่ละเขตพื้นที่ฯพยายามจัดกิจกรรมและพัฒนาสื่อการเรียนการสอน ทั้งนี้ ในส่วนของ สพฐ.สมัยนายชินภัทร ภูมิรัตน อดีตเลขาธิการ กพฐ. ก็จัดสื่อการเรียนการสอนลงไปสนับสนุน เพื่อพัฒนาการอ่านและเขียนของเด็กด้วยเช่นกัน
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังและยั่งยืน เร็วๆนี้ ตนจะตั้งกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีนางวีณา อัครธรรม อดีตที่ปรึกษา สพฐ. ด้านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ เป็นประธาน เบื้องต้นวางแนวทางทำงานใน 4 ขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ตนจะขอให้ สพป. ทุกเขตส่งข้อมูลการสำรวจการอ่านออก เขียนได้ของนักเรียนมายัง สพฐ.อีกครั้ง
เพื่อจะได้ข้อมูลที่แน่ชัดว่าในแต่ละเขตพื้นที่ฯ มีนักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้เท่าไร หรืออ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่องเท่าไร 2.เชิญนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญและผลิตนวัตกรรมทางการศึกษาในการแก้ปัญหาดังกล่าว และมีนวัตกรรมเด่นๆ มาประชุมร่วมกัน เพื่อคัดเลือกนำมาจัดระบบว่านวัตกรรมแบบใดเหมาะกับเด็ก ซึ่งในแต่ละเขตพื้นที่ฯจะมีปัญหาแตกต่างกันไป 3.จัดอบรมให้ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ศึกษานิเทศก์ และผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้รับการอบรมการพัฒนาผู้เรียนที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และขั้นตอนที่ 4.จัดส่งสื่อการเรียนการสอนและพัฒนาการอ่านออกเขียนได้อย่างเต็มรูปแบบ
“ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าจะเริ่มกระบวนการพัฒนาเด็กตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้และทำเต็มรูปแบบในปี2558”นายกมล ระบุ