สดร.ยันข่าวจากเว็บลวง อ้าง “โลกมืด 6 วัน” ไม่เป็นความจริง พร้อมแจงข้อเท็จจริงพายุสุริยะไม่ก่อให้เกิดฝุ่นและขยะอวกาศไม่สามารถบดบังโลก วอนประชาชนบริโภคข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณ
นายมติพล ตั้งมติธรรม เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.)
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า เรื่องนี้เผยแพร่มาจาก "สำนักข่าว huzlers" แท้จริงแล้ว huzlers ไม่ใช่สำนักข่าวจริงๆ แต่เป็นสำนักข่าวที่เขียนข่าวขำขัน เขียนเรื่องสร้างความตื่นตระหนกให้คนตกใจเล่นๆ แม้กระทั่งตัวเพจเองก็เขียนเอาไว้ด้านล่างว่า
"Huzlers.com is a combination of real shocking news and satirical entertainment to keep its visitors in a state of disbelief."
"เว็บไซต์ Huzlers.com เป็นเว็บที่ผสมระหว่างข่าวจริงและเสียดสีที่น่าตื่นเต้นเพื่อสร้างความบันเทิงและน่าทึ่งให้กับผู้ชม"
ในข่าวลวงโลกนี้ ได้กล่าวว่า วันที่ 16-22 ธันวาคม เป็นเวลาทั้งสิ้นสามวัน โลกจะตกอยู่ในความมืดสนิท เพราะพายุสุริยะจะทำให้เกิดฝุ่นและขยะอวกาศมาบดบังจนโลกอยู่ในความมืดสนิท
นายมติพล อธิบายเพิ่มเติมและให้เหตุผลในเชิงวิทยาศาสตร์ว่า การบอกว่า "พายุสุริยะทำให้เกิดฝุ่น" นั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากพายุสุริยะไม่ได้ทำให้เกิดฝุ่นหรืออะไรทั้งส้ิน แล้วก็ไม่ได้ทำให้เกิดแผ่นดินไหวด้วย อย่างมากพายุสุริยะก็จะทำให้ดาวเทียมใช้งานไม่ได้ แล้วก็อาจจะทำให้เห็นออโรร่าสวยๆ ในประเทศแถบขั้วโลกเท่านั้น
ส่วนที่ว่า "ฝุ่นและขยะอวกาศจะมาบดบังโลกให้อยู่ในความมืดสนิท " ก็ไม่เป็นความจริง
เนื่องจากการที่ขยะอวกาศจะสามารถบดบังโลกให้อยู่ในความมืดสนิทได้นั้น เราจะต้องมีขยะอวกาศมากกว่าดาวเทียมที่มีอยู่ทั้งหมดนี้หลายเท่า และถ้าเป็นเช่นนั้นดาวเทียมเราทุกดวงคงร่วงไปหมดแล้ว ฝุ่นสามารถบดบังแสงอาทิตย์ได้ก็จริง แต่สามารถเกิดขึ้นได้เฉพาะในชั้นบรรยากาศ เช่น กรณีที่ภูเขาไฟลูกใหญ่ หรืออุกกาบาตขนาดมหึมา ทำให้ฝุ่นกระจายไปในชั้นบรรยากาศ ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับเหตุการณ์สูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ แต่แม้กระนั้นก็ไม่ได้อยู่ในความมืดสนิทอย่างที่กล่าวอ้างในข่าว
นายมติพล กล่าวอีกว่า ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสังคมออนไลน์ ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว บางครั้งอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริง ต้นตอข่าวลือต่างๆ ไม่ได้มาจากไหน แต่วนเวียนอยู่ในโลกไซเบอร์ที่มีทั้งเรื่องจริงและเรื่องที่ต้องอาศัยวิจารณญาณในการรับรู้ จึงขอให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ ศึกษาข้อมูลและความเป็นไปได้ด้วยเหตุและผล ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาอ้างอิง และควรระมัดระวังในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้วย