ดีเอสไอแฉรถหรูเลี่ยงภาษีทำเป็นขบวนการเชื่อมโยงต่างชาติ ชัดรถไฟไหม้ 6 คันที่ปากช่องสำแดงเท็จนำเข้าทั้งคันจากมาเลเซีย แต่จดแจ้งเป็นรถจดประกอบ ออกหมายจับชาวมาเลเซีย 2 คน โยง 2 ใน 6 คันถูกขโมยจากมาเลเซียมาจดทะเบียนในไทย
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร ผบ.สำนักปฏิบัติการคดีพิเศษภาค
แถลงผลการสืบสวนสอบสวนขบวนการทำรถจดประกอบ และคดีเพลิงไหม้รถหรูที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ขณะนำไปจดทะเบียนที่ จ.ศรีสะเกษ เมื่อปี 2556 โดยในส่วนของการตรวจสอบรถจดประกอบซึ่งมีคณะทำงานระหว่างกรมขนส่งทางบก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ปรากฏว่ามีรถจดประกอบราคาเกิน 4 ล้านบาท จำนวน 548 คัน แบ่งเป็นสมัครใจให้ตรวจ 215 คัน บังคับตรวจ 163 คัน เหลือรถที่ยังไม่เข้าตรวจ 150 คัน ซึ่งคณะทำงานจะแจ้งเตือนให้นำรถเข้าตรวจเป็นครั้งสุดท้าย หากไม่ดำเนินการจะจัดชุดเจ้าหน้าที่ติดตามยึดและอายัดมาตรวจสอบทันที
ทั้งนี้กรณีรถที่ตรวจสอบแล้วพบว่าต้องจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีศุลกากร 2530
คณะกรรมการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีของกรมศุลกากรระบุจะพิจารณา 2 ส่วน คือ เลขเครื่องยนต์และเลขตัวถังรถยนต์ หากพบว่าข้อมูลทั้งสองส่วนตรงกันก็จะไม่ตรวจสอบเลขเกียร์หรือเลขชิ้นส่วนอื่นอีก ในส่วนนี้ประเมินความเสียหายไว้ประมาณ 1,800 ล้านบาท จากข้อมูลรถจดประกอบของกรมการขนส่งทางบกจัดเก็บฐานไว้มีจำนวน 6,575 คัน ดีเอสไอพบมีรถที่หายจากสารบบ 1,350 คัน ซึ่งอยู่ระหว่างการติดตาม เพราะเชื่อว่าเป็นรถที่นำเข้าทั้งคันไม่ใช่รถจดประกอบคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 2,000 ล้านบาท
พ.ต.ท.กรวัชร์ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีรถหรูที่ถูกไฟไหม้ 6 คัน ในพื้นที่ อ.ปากช่อง
สอบสวนหลักฐานชัดเจนแล้วว่าเป็นขบวนการที่นำรถทั้งคันเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย ก่อนนำสำแดงเอกสารเท็จว่าเป็นรถจดประกอบเพื่อหลบเลี่ยงภาษี ซึ่งสัดส่วนแตกต่างกันโดยรถที่นำเข้าทั้งคันจะเสียภาษี 300 % แต่รถจดประกอบจะเสียภาษีเพียง 70% ทั้งนี้พบว่ารถ 2 ใน 6 คันที่ไฟไหม้ เป็นรถที่ขโมยมาจากประเทศมาเลเซีย ล่าสุดดีเอสไอได้ขอศาลอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาชาวมาเลเซีย 2 คน คือ นายNg Chee Kiong อายุ 30 ปี และ นาย Poh BoomPoy อายุ 42 ปี ในข้อหา ร่วมกันนำหรือพาของที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรไทย หรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆในการนำของที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรไทย หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใดๆ ในการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469
นอกจากนี้ยังพบว่ามีรถยนต์เบนท์ลีย์ 1 ใน 6 คันที่ถูกเพลิงไหม้ เป็นรถที่ถูกลักลอบนำออกมาจากเขตปลอดอากร (FreeZone)
ที่กรมศุลกากรแถลงว่ามีรถหายไปก่อนประมูลกว่า 500 คัน ถือเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีการลักลอบนำรถออกจากเขตปลอดอากรจริง โดยดีเอสไอได้ประสานกรมศุลกากรเพื่อสืบสวนและติดตามรถที่หายจากเขตปลอดภาษีมาดำเนินคดีและเรียกคืนภาษีตามกฎหมาย
พ.ต.ท.กรวัชร์ กล่าวอีกว่า ดีเอสไอสืบสวนติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลขบวนการทุจริตรถทุกรูปแบบ
พบว่าในการประมูลขายทอดตลาดรถยนต์ของกลางของกรมศุลกากร 2 ครั้งที่ผ่านมา มีการนำรถที่สำแดงเป็นรถจดประกอบมาร่วมประมูล 12 คัน คือ ในวันที่ 3 ก.ค. ประมูลรถ 357 คัน เป็นรถจดประกอบ 8 คัน ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ประมูลรถ 240 คัน เป็นรถจดประกอบ 4 คัน หลังจากนี้ดีเอสไอจะประสานกรมศุลกากรเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ตามการสอบสวนของดีเอสไอสะท้อนให้เห็นภาพว่า ขบวนการนำเข้ารถหลบเลี่ยงภาษีนั้นเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ เพราะมีความเชื่อมโยงกับต่างประเทศ เช่น รถลัมโบกินีสีขาวคันหนึ่งที่ถูกไฟไหม้ที่ปากช่อง มีการสำแดงเป็นรถจดประกอบ แต่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบเป็นการนำเข้ารถสีน้ำตาล ซึ่งประเทศผู้ผลิตยืนยันรถรุ่นดังกล่าวไม่มีการผลิตสีน้ำตาล และเลขรถยังอยู่ที่สหรัฐอเมริกา
ดังนั้นเชื่อว่ากรณีดังกล่าวเป็นการทุจริตที่ร่วมกันหลายส่วนเป็นขบวนการ ตั้งแต่การนำเข้าและจัดทำเอกสารจดทะเบียน ทั้งนี้ประเทศมาเลเซียยังขอรับคืนรถเบนซ์ 2 คันที่พบว่าถูกขโมยมา และนำมาจดทะเบียนเป็นรถจดประกอบในประเทศไทย ซึ่งตนเชื่อว่ายังมีรถอีกจำนวนมากที่ถูกขโมยมาจดทะเบียนและต้องเร่งตรวจสอบเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย.