ที่อาคารซอฟแวร์ปาร์ค ถ.แจ้งวัฒนะ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.)เช้าวันที่ 14 ตุลาคม
นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการป.ป.ท. พร้อมด้วย นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ประชุมเกี่ยวกับแนวทางการตรวจสอบโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียน จำนวน 358 แห่ง ใน 17 จังหวัด วงเงิน 689 ล้านบาท
ต่อมานายประยงค์ แถลงว่า ที่ประชุมได้แบ่งแยกการทำงานให้แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ ตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ของตัวเอง
ก่อนนำหลักฐานที่ได้มารวบดำเนินการกับกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ทั้งกลุ่มจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นกรรมการชุดต่างๆ กลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการประมูล และกลุ่มผู้อยู่เบื้องหลัง โดยดีเอสไอจะเน้นสอบสวนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเอกชน ส่วนป.ป.ท.จะตรวจสอบความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ด้านปปง.ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และสตง.จะตรวจสอบความผิดปกติการใช้จ่ายเงิน ซึ่งตั้งเป้าภายใน 1 เดือน ต้องเห็นความคืบหน้าการสรุปภาพรวม โดยการทำงานครั้งนี้เป็นการดำเนินการในนามของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ
ด้าน นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องอุกอาจในการใช้งบประมาณไม่ถูกต้อง ทำให้ได้ของที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ เห็นได้จากงานก่อสร้าง ที่เหลือเพียงลานคอนกรีต ทั้งที่จ่ายเงินไปเพื่อสร้างสนามฟุตซอล สตง.จะดูการใช้จ่ายเงินทั้งหมด
ซึ่งก่อนหน้านี้สตง.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงไปแล้วบางส่วนทำให้สามารถระงับความเสียหายในบางพื้นที่ได้ทัน
เนื่องจากโรงเรียนบางแห่งไม่เซ็นรับงานและเบิกจ่ายเงินให้ผู้รับเหมา เพราะงานไม่ได้มาตรฐานทำให้มีการเรื่องฟ้องร้องกัน โดยเฉพาะในสตง. พื้นที่ภาค 5 สามารถระงับการจ่ายงบประมาณได้ 60 ล้านบาท รวมทั้งจะเก็บตัวอย่างพื้นปูไปตรวจสอบว่าได้มาตราฐานตามที่กำหนดหรือไม่ ถ้ไม่ได้มาตราฐานก็ถือว่าผิดสัญยา
“ส่วนเรื่องการแปลงงบสร้างสนามฟุตซอลไปใช้ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างอื่น ก็จะตรวจสอบว่าเป็นไปตาม วิธีการใช้งบประมาณหรือไม่ แต่เห็นว่า บางโรงเรียนฉลาดก็เปลี่ยนแปลงงบไปใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น ไม่ทำตามที่มีการแปรญัตติมาซึ่งบางอย่างเกินความจำเป็น ไม่เหมาะสมกับสภาพท้องที่ เช่น พื้นที่น้ำท่วม หากไม่ยกระดับพื้นที่ให้เหมาะสมพื้นยางก็จะลอยน้ำ” ผู้ว่าการสตง. กล่าว