เริ่มออกอากาศแล้ว ช่อง 3 คู่ขนาน
เริ่มออกอากาศแล้ว ช่อง 3 คู่ขนาน - หลังกสท.มีมติ 3 เสียงอนุมัติผังรายการใหม่
กรรมการกสท.เผยผังรายการช่อง 3 ที่ยื่นมา เหมือนระบบอนาล็อกทั้งหมด เตรียมทำเรื่องแจ้งไปยังศาลปกครองให้ทราบ ฮึ่มดาวเทียม-เคเบิลหากออกอากาศระบบอนาล็อกโดนปรับวันละ 2 หมื่น-ถอนใบอนุญาต ด้านบิ๊กวิก 3 ระบุพร้อมออกคู่ขนานทันที ชี้ทุกฝ่ายวินวิน เล็งเคลียร์เจ้าของรายการดิจิตอล แถมพิจารณาถอนฟ้องกสท.ด้วย ขณะที่กสทช.แจกแล้วคูปองทีวีดิจิตอล 21 จว.นำร่อง
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 ต.ค. ที่สำนักงานคณะกรรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตัวแทนช่อง 3 นำโดยน.ส.ประภัสสร มหาวนิช ตัวแทนผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในนามบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด และบริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด เข้ายื่นเอกสารรายละเอียด เกี่ยวกับผังรายการออกอากาศคู่ขนานของช่อง 3 อนาล็อก ที่จะออกอากาศคู่ขนานในช่องทีวีดิจิตอล 33 เอชดี ให้สำนักงานกสทช. โดยมี น.ส.มณีรัตน์ กำจรกิจการ ผอ.สำนักการอนุญาตประกอบการวิทยุกระจายเสียง และวิทยุทัศน์ สำนักงาน กสทช. เป็นผู้รับหนังสือ โดยจะนำเสนอต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ที่จะประชุมวาระพิเศษในเวลา 17.00 น. และจะแถลงผลในเวลาถัดมา
ต่อมาเวลา 17.00 น. บอร์ดกสท.ประชุมวาระพิเศษ ซึ่งบอร์ดกสท. นำโดย พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานกสท. พร้อม 3 กรรมการ ประกอบด้วย พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เข้าประชุมร่วมกับผู้บริหารช่อง 3 ประกอบด้วย นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธ์ รองกรรมการผู้จัดการช่อง 3 และนายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายช่อง 3
ภายหลังการประชุมที่ใช้เวลา 1 ช.ม. น.ส.สุภิญญากล่าวว่า ได้อนุมัติผังรายการหลักของบริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจ ช่อง 33 เอชดี ให้ออกอากาศคู่ขนานกับช่อง 3 ระบบอนาล็อก ตามที่บีอีซียื่นเข้ามา ซึ่งผังรายการที่นำเสนอมาเหมือนกับช่อง 3 อนาล็อก 100 เปอร์เซ็นต์ และเป็นผังรายการหลักประจำปี 2557 โดยเป็นไปตามเงื่อนไขใบอนุญาต ทั้งนี้สำนักงานกสทช. จะแจ้งบีอีซีอย่างเป็นทางการ จากนั้นให้ปฏิบัติตามได้ทันทีหากพร้อมจะออกอากาศคู่ขนาน
น.ส.สุภิญญากล่าวอีกว่า กสท.จะทำเรื่องแจ้งรายละเอียดส่งไปยังศาลปกครองอีกครั้ง ตามที่ศาลได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 ต.ค. ให้ บีอีซี ช่องทีวีดิจิตอล 33 เอชดี สามารถนำรายการของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ หรือช่อง 3 อนาล็อก ไปออกอากาศแบบคู่ขนาน ได้เช่นเดียวกับช่อง 7 และช่อง 9 ดังนั้นในวันที่ 11 ต.ค. เวลา 16.30 น. โครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิล ห้ามนำทีวีระบบอนาล็อกไปออกอากาศ หากฝ่าฝืนจะดำเนินการปรับวันละ 20,000 บาท ไปจนถึงการเพิกถอนใบอนุญาต โดยประชาชนสามารถรับชมฟรีทีวีระบบอนาล็อกได้ทางช่องดิจิตอลที่ออกอากาศคู่ขนาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการอนุมัติเป็นการเห็นชอบของกรรมการ 3 คน โดยประธานกสท.งดออกเสียง และพ.ต.ท.ทวีศักดิ์ งามสง่า ไม่ได้เข้าประชุม เพราะไปราชการต่างประเทศ
ด้านพ.อ.นทีกล่าวว่า เหตุที่งดออกเสียง เพราะต้องให้เกียรติกรรมการ 3 คนที่ไปไกล่เกลี่ยที่ศาลปกครอง ซึ่งเจตนารมณ์เดียวกันคือ ให้การเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอลเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว จากนี้การยุติทีวีอนาล็อกจะเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะ นับว่าเป็นข้อยุติที่น่าจะมีประโยชน์ต่อสาธารณะ
ขณะที่นายสุรินทร์กล่าวว่า จะดำเนินการออกอากาศคู่ขนานช่อง 3 อนาล็อก และช่องดิจิตอล 33 เอชดี ก่อนเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 10 ต.ค.แน่นอน โดยจะประเดิมออกอากาศคู่ขนานในรายการคืนความสุขของประชาชน เวลา 20.15 น. ส่วนแผนงานทางธุรกิจจากนี้ไปก็ต้องปรับเปลี่ยนต่อไป โดยจะไปพูดคุยกับเจ้าของรายการของช่อง 33 เอชดีที่มีอยู่เดิม ซึ่งคิดว่าอาจมีปัญหาบ้าง แต่คิดว่าน่าจะจัดการได้ เพราะยังมีช่องทางในช่องดิจิตอล 28 และ 13 รองรับ โดยเป็นความตั้งใจที่ช่วยการเปลี่ยนภาพอนาล็อกไปดิจิตอลสำเร็จ นับว่าวินวินกันทุกฝ่าย
นายสุรินทร์กล่าวอีกว่า พร้อมกันนี้ช่อง 3 จะพิจารณาถอนฟ้องกสทช. และกสท. ในมติกสท.เมื่อวันที่ 3 ก.พ. เรื่องผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิตอลที่เป็นผู้ประกอบการฟรีทีวีรายเดิม ได้แก่ ช่อง 3 ช่อง 7 และช่อง 9 พ้นจากการเป็นผู้ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎมัสต์แครี่หลัง 30 วันเมื่อได้ออกอากาศเป็นระบบทีวีดิจิตอลแล้ว เพราะขณะนี้ทุกอย่างจบแล้ว ต่อไปจะโฟกัสทางธุรกิจไม่ใช่โฟกัสที่ศาลอีกแล้ว
วันเดียวกัน พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกสทช. กล่าวว่า วันนี้กสทช. พร้อมส่งมอบคูปองดิจิตอลทีวี ล็อตแรก 4,645,000 ฉบับ ผ่านไปรษณีย์ตอบรับส่งตรงถึงบ้านใน 21 จังหวัดนำร่อง ที่มีสัญญาณดิจิตอลทีวีครอบคลุมเกินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ โดยจะมีพิธีส่งมอบคูปองให้กับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด นำไปแจกจ่ายตามโครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล โดยใช้กรอบวงเงินเริ่มต้นของการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลวงเงิน 15,801 ล้านบาท และแจกจ่ายคูปองดิจิตอลทีวีมูลค่า 690 บาท ให้กับครัวเรือนทั่วประเทศ
ประธานกสทช. กล่าวอีกว่า คูปองนี้เมื่อประชาชนได้รับแล้วสามารถนำไปแลกซื้อเซ็ตท็อปบ็อกซ์ หรือใช้เป็นส่วนลดแลกซื้อโทรทัศน์ระบบดิจิตอลที่มีภาครับสัญญาณในตัวเครื่อง หรืออุปกรณ์อื่น อาทิ เสาอากาศ ณ จุดให้บริการที่สำนักงานกสทช. และ 42 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะประกาศให้ทราบในวันที่ 17 ต.ค. โดยประชาชนสามารถนำคูปองดิจิตอลทีวีไปใช้แลกบริเวณจุดให้บริการที่ประกาศไว้ได้ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.เป็นต้นไป โดยคูปองที่ได้รับในครั้งแรกนี้จะมีอายุการใช้งาน 6 เดือน และจะสิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค.2558
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า คูปองล็อตแรกที่จะแจกไปยังครัวเรือนที่มีบ้านและมีเจ้าบ้านในทะเบียนบ้านทั้งสิ้น 4,645,175 ครัวเรือน แยกเป็น 1.กรุงเทพฯ 1,345,821 ครัวเรือน 2.นนทบุรี 326,535 ครัวเรือน 3.นครปฐม 192,886 ครัวเรือน 4.ปทุมธานี 291,930 ครัวเรือน 5.สมุทรปราการ 300,405 ครัวเรือน 6.สมุทรสาคร 108,247 ครัวเรือน 7.พระนครศรีอยุธยา 193,629 ครัวเรือน 8.สิงห์บุรี 48,111 ครัวเรือน 9.อ่างทอง 66,670 ครัวเรือน 10.ระยอง 149,204 ครัวเรือน 11.สุพรรณบุรี 191,890 ครัวเรือน 12.หนองคาย 101,204 ครัวเรือน 13.สุโขทัย 138,453 ครัวเรือน 14.อุดรธานี 292,696 ครัวเรือน 15.ฉะเชิงเทรา 143,883 ครัวเรือน 16.สมุทรสงคราม 42,174 ครัวเรือน 17.พัทลุง 121,792 ครัวเรือน 18. สงขลา 276,937 ครัวเรือน 19.นครนายก 59,171 ครัวเรือน 20.ราชบุรี 171,291 ครัวเรือน และ 21.ชัยนาท 82,246 ครัวเรือน
นายฐากรกล่าวอีกว่า สำหรับล็อตที่ 2 จะแจกคูปองอีก 4,100,000 ครัวเรือน ในอีก 21 จังหวัดภายในเดือนพ.ย.นี้ โดยกสทช.ได้ประสานผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอล เร่งขยายสถานีฐาน เพื่อให้สัญญาณครอบคลุมในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และในส่วนที่เหลือกสทช.จะแจกให้ครบทั้ง 14,100,000 ครัวเรือน ภายในเดือนมี.ค.2558 โดยจะแจ้งข่าวให้ทราบเป็นระยะๆ เพื่อให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากกสทช.ต่อไป
นายฐากรกล่าวต่อว่า สำหรับจำนวนครัวเรือนที่เหลืออีกประมาณ 12,800,000 ครัวเรือน ประกอบด้วย ครัวเรือนที่มีบ้าน แต่ไม่มีเจ้าบ้าน 7,300,000 ครัวเรือน ครัวเรือนที่มีบ้าน ไม่มีเจ้าบ้าน แต่มีผู้อยู่อาศัยอีก 2,400,000 ครัวเรือน และครัวเรือนที่ตกสำรวจ ซึ่งไม่อยู่ในฐานข้อมูลของกรมการปกครองอีก 2,800,000 ครัวเรือนนั้น จะเร่งทำหลักเกณฑ์เสนอต่อกสทช. และคสช. ในการขอให้มีการแจกคูปองเพิ่มเติม ส่วนกลุ่มเป้าหมายสุดท้าย ซึ่งเป็นพื้นที่สัญญาณเข้าไปไม่ถึง กสทช.จะเสนอแจกกล่องรับสัญญาณดาวเทียมทดแทน เพื่อให้ประชาชนในกลุ่มนี้สามารถรับชมโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้เช่นกัน