‘ศิริราช’ แถลงผลสำเร็จ ผลิต ‘แอนติบอดีรักษาอีโบลา’ ครั้งแรกโลก เปรียบเหมือนเซรุ่มรักษาพิษงู
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 ต.ค. ที่อาคารศรีสวรินทิรา ร.พ.ศิริาช ในการแถลงข่าว “ศิริราชผลิตแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลา”
โดยมี ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานการแถลงข่าว ร่วมกับ รศ.นพ.สุโรจน์ ศุภเวคิน รองผู้อำนวยการ ร.พ.ศิริราช และ นพ.สุสัณห์ อาศนะเสน สาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ ศ.ดร.รวงผึ้ง สุทเธนทร์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย และ ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา หัวหน้าทีมผู้ผลิตแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลา
ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โรคไข้เลือดออกอีโบลารุนแรงถึงขั้นวิกฤต และสร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก
แม้จะระบาดมาเป็นเดือน แต่ก็จะเกิดการระบาดอย่างต่อเนื่อง จนองค์การอนามัยโลก WHO ต้องประกาศเตือน โดยอีโบลา เป็นไข้เลือดออกชนิดหนึ่ง ซึ่งประเทศไทย ก็มีไข้เลือดออก ไวรัส ชนิดเด็งกี่ ส่วนแอฟริกา เป็นเชื้ออีโบลา ซึ่งที่ผ่านมาเคยเกิดการระบาดมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่รุนแรง โดยไม่ทราบว่าครั้งนี้เหตุใดจึงรุนแรง โดยสถานการณ์ล่าสุดการติดเชื้อมากที่สุดในประเทศไลบีเรีย การสันนิษฐานเบื้องต้น คือ เชื้อที่ระบาดครั้งนี้มีความรุนแรง อัตราการตายเกินกว่าร้อยละ 50
โดยร.พ.ศิริราช มีการวิจัย ศึกษาค้นคว้าในเรื่องไข้เลือดออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการรักษาเด็งกี่ หรือ อีโบลา คล้ายๆ กัน
เราสามารถผลิตแอนติบอดี ได้สำเร็จ ศิริราช ไม่เคยพูดอะไรเกินจริง ทุนทางสังคมเราสูงอยู่แล้ว ถือเป็นครั้งแรกของไทยและของโลกก็ว่าได้ เพราะแอนติบอดีตัวนี้ได้รับการพิสูจน์ว่า แตกต่างจากตัวที่ใช้อยู่ เช่น กรณี แพทย์ชาวสหรัฐฯ ก็รักษาด้วยแอนติบอดี แต่เป็นตัวใหญ่ เราเล็กกว่า 5 เท่า และมีประสิทธิภาพมากกว่าอย่างชัดเจน หากจะเปรียบแอนติบอดีนี้ ก็เหมือนเซรุ่มรักษาพิษงู
ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่เอาไปประยุกต์ใช้ในการรักษา แต่เป็นต้นแบบที่ต้องเอาไปทดลองในสัตว์และในคน ที่ทำได้ช้า
เพราะเป็นการผลิตในห้องแล็บ หากจะผลิตได้มากๆ ต้องเอาไปผลิตในกระบวนการอุตสาหกรรม ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยว่า เราไม่ได้ด้อยกว่าชาติใด ในเรื่องของความรู้ มีการรักษาที่ได้มาตรฐานสากล สิ่งที่ทำสอดคล้องกับปณิธานของศิริราช
ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ กล่าวว่า แอนติบอดีคือโปรตีนชนิดหนึ่งที่สร้างจากภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของมนุษย์
ซึ่งจะถูกผลิตขึ้นหลังจากที่ได้รับเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอมชนิดใด ชนิดหนึ่งเข้ามาในร่างกาย แอนติบอดีจะถูกผลิตออกมาจากเม็ดเลือดขาว ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ลิมโฟไซต์ชนิดบี โดยร่างกายจะใช้เวลา 7-10 วัน หลังจากได้รับเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอมนั้นๆ แอนติบอดีจะทำหน้าที่กำจัดเชื้อหรือสิ่งที่เป็นพิษออกไปจากร่างกาย กรณีเชื้อหรือพิษบางอย่างที่ร่างกายได้รับ ก่ออาการรุนแรงและเร็วมาก ร่างกายสร้างแอนติบอดีออกมาได้ไม่ทัน ก็มักเสียชีวิตก่อนที่จะผลิตแอนติบอดี เช่น การติดเชื้ออีโบลา เราสามารถให้แอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อนั้นที่พร้อมใช้เตรียมเอาไว้แล้วแก่ผู้ป่วยได้ทันที เรียกว่า ให้ภูมิคุ้มกันพร้อมใช้ หรือ แอนติบอดีรักษา เข้าไปสู่กับเชื้อโรคหรือสารพิษโดยตรง
อย่างไรก็ดี แอนติบอดีต้นแบบเหล่านี้ ยังผลิตในห้องปฏิบัติการได้จำนวนน้อย ซึ่งจะมีการขอความร่วมมือ จากบริษัทสยามไบโอไซเอ็นซ์
ที่ผลิตแอนติบอดีอื่นอยู่แล้วให้ผลิตมากขึ้นด้วยมาตรฐาน GMP เพื่อการทดลองในสัตว์ และจดทะเบียนเป็นยาใหม่ต่อไป ทั้งนี้ ต้นแบบแอนติบอดีเหล่านี้ได้ยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว ซึ่งสิทธิทั้งหมดเป็นของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
‘ศิริราช’ แถลงผลสำเร็จ ผลิต ‘แอนติบอดีรักษาอีโบลา’ ครั้งแรกโลก
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ ‘ศิริราช’ แถลงผลสำเร็จ ผลิต ‘แอนติบอดีรักษาอีโบลา’ ครั้งแรกโลก