นัดแล้วมอบของ ตร.ใต้ 9 ต.ค. นี้

นัดแล้วมอบของ ตร.ใต้ 9 ต.ค. นี้



“เรื่องเล่าเช้านี้”  รีบติดต่อตำรวจชุดกู้ระเบิด ขอนัดมอบชุดเก็บกู้ระเบิด 9 ต.ค.นี้ หลังถูกตีแผ่รับเงินบริจาคเกือบปี แต่ของยังไม่ถึงมือจนท. “ผู้การนราฯ” แฉซ้ำ เอกชนรับติดกระจกกันกระสุนให้ฟรี แต่วิ่งขึ้นลงกรุงเทพฯหลายเที่ยว เบี้ยเลี้ยง-น้ำมัน หมดไป 4 แสนพอๆ กับซื้อเอง ส่วนที่เหลือได้เครื่องปั่นไฟ 4 ตัว สรุปแล้วไม่คุ้ม

กรณีรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ทางไทยทีวีสีช่อง 3 เปิดรับบริจาคในชื่อ"กองทุนเรื่องเล่าเช้านี้เพื่อสนับสนุนอุปกรณ์แก่เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ระเบิด"ตั้งแต่วันที่ 31ต.ค.56 เพื่อนำเงินบริจาคที่มาจากธารน้ำใจของมวลชนที่ห่วงใยในความเป็นความตาย ส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่แต่นับจากวันนั้น จนถึงวันนี้ยังไม่มีชุดเก็บกู้รายใดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้รับเงินบริจาค หรืออุปกรณ์ในการเสี่ยงตายเลยแม้ระยะเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเกือบครบปีแล้วก็ตาม

ล่าสุด พล.ต.ต.พัฒนาวุฒิ อัครนาวิน ผบก.ภ.จว.นราธิวาส เปิดเผย “เดลินิวส์ออนไลน์” ว่า ตั้งแต่มีการเปิดรับบริจาคดังกล่าวจนถึงขณะนี้ได้เพียงเครื่องปั่นไฟ 4 เครื่องเท่านั้น อีกทั้งการช่วยเหลือด้านอื่นๆ ยังก่อความเสียหายให้กับหน่วยงานอาทิ

1.การซ่อมแซมห้องปฏิบัติงานใช้ระยะเวลาการซ่อมแซมนานถึง1 ปี เริ่มซ่อมตั้งแต่ปลายปี 56เพิ่งจะแล้วเสร็จเมื่อเดือนส.ค.57 ที่ผ่านมา จนทำให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เกือบโดนตั้งคณะกรรมการสอบสวน เนื่องจากทีมงานของเอกชนดังกล่าวทำงานล่าช้าเพราะใช้คนนอกพื้นที่เข้ามาทำงาน

2.การติดตั้งกระจกกันกระสุนรถ 2 คันใช้ระยะเวลาติดตั้งกว่า 1ปี ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสูญเสียงบประมาณไปกับค่าน้ำมันค่าเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยงเกือบ 400,000 บาทเนื่องจากภาคเอกชนให้ทางหน่วยขับรถขึ้น-ลง จ.นราธิวาส-กรุงเทพหลายรอบ ซึ่งงบประมาณที่สูญเสียไปขนาดนี้มีมูลค่าเท่ากับราคาติดตั้งกระจกกันกระสุนซึ่งหากให้ทางหน่วยติดตั้งเองจะสะดวกและรวดเร็วกว่า

ทางด้านแหล่งข่าวจากชุดทำงานEOD รายหนึ่งกล่าวกับ “เดลินิวส์ออนไลน์” เพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาเกือบ 1 ปีทีมงานของเอกชนรายดังกล่าว ได้เรียกตัวเจ้าหน้าที่ไปกรอกข้อมูล และถามไซส์ของชุดบอมบ์สูทหลายครั้งมาก ไม่ใช่การวัดตัวอย่างที่เป็นข่าว และยังได้แจ้งมาตลอดว่าวันนั้น-วันนี้จะได้ของ ผัดวันกับเรามาเรื่อยๆ จนกระทั่งเรื่องแดงขึ้นมาจึงมีการติดต่อล่าสุดว่าในวันที่ 9 ต.ค.นี้จะนำชุดบอมบ์สูทมามอบให้โดยให้เหตุผลว่าต้องสั่งของจากต่างประเทศ

“อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าชุดบอมบ์สูทที่กล่าวอ้างนั้น มีเพียงชุดเสื้อ รองเท้าและหมวก ซึ่งเรียกกันว่า'อุปกรณ์ป้องกันชีวิตส่วนบุคคล'ไม่ใช่ 'อุปกรณ์เก็บกู้ระเบิด'อย่างที่เอกชนรายนี้กล่าวอ้าง เพราะเป็นการใช้คำที่ผิดความหมาย” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ตำรวจEOD ชุดภูธรจังหวัดยะลาให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในช่วงแรกของการเปิดรับบริจาคเงินเคยมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่มาสอบถามว่าทางหน่วยต้องการอุปกรณ์ใดหรือไม่ ก็ได้ให้รายละเอียดไปแต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่เคยได้รับอะไรแม้แต่ชิ้นเดียว มีเพียงการถามไซส์เสื้อตามธรรมดาเท่านั้น ซึ่งชุดที่ใช้อยู่ปัจจุบันคือชุดหมีที่นักบินใส่กันทั่วไป ให้ความคล่องตัวในการทำงานสามารถซื้อได้จาก ทบ. ในราคา 1,500 บาท ส่วนชุดหมีของต่างประเทศก็ไม่ต่างจากของ ทบ.เพียงแต่ช่วยกันไฟได้ระดับหนึ่งเท่านั้น

“จริงๆแล้วทางหน่วยไม่ได้ต้องการสิ่งของใด ที่ผ่านมาแม้ไม่มีสิ่งของพวกนี้เจ้าหน้าที่ทุกคนก็สามารถทำงานได้ เพราะใช้ประสบการณ์แค่อยากให้ทุกคนช่วยตรวจสอบว่าเงินบริจาคดังกล่าว ไปตกหล่นอยู่ตรงไหน อยากให้สังคมได้รับรู้ว่าความจริงแล้วคืออะไร และถึงแม้เงินจำนวนนี้จะมาไม่ถึงก็ไม่เดือนร้อน เพราะเรื่องจริงเป็นอย่างไรทุกคนก็ทราบดี” แหล่งข่าวกล่าวทิ้งท้าย

สำหรับเจ้าหน้าที่ชุดทำงานEOD ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และอีก4 อำเภอใน จ.สงขลามีจำนวนรวมทั้งสิ้น 243 นาย แบ่งเป็น 4 หน่วยงาน คือ 1.EOD ภูธรจังหวัดซึ่งมีจังหวัดละ1 ชุด ชุดละประมาณ40 คน 2.EODศชต. 3.EOD ตชด.และ 4.EOD ฉก.อโณทัยของทหาร โดย EOD3 ชุดหลังจะหมุนเวียนกันทำงานในพื้นที่ผลัดละ 6 เดือนถึง 1 ปีซึ่งเมื่อตัดกำลังทหารออกแล้วจะมีชุด EODรวมไม่เกิน 200นาย


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์