กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พญาไท ส่งหนังสือเรียกเจ้าของรถที่วิ่งสวนเลนมาจ่ายค่าปรับ ก่อนระบุว่า ทางผู้ขับขี่จะมาหรือไม่มาเป็นสิทธิของเขา เนื่องจากมาเอกสารสิทธิ์ และกฎหมายไทย ไม่มี พ.ร.บ.รองรับว่าภาพถ่าย หรือคลิปวิดีโอนำมาใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาล แถมคลิปวันเกิดเหตุไม่ได้มาจากกล้องของทางราชการ ซึ่งผู้กระทำผิดอาจหาหลักฐานอื่นมาแก้ต่างในคดีได้ จนหลายคนสงสัยในประเด็นดังกล่าว ตามที่ได้ปรากฏเป็นข่าวมาแล้วนั้น
ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายสุนทร พยัคฆ์ อุปนายกช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ว่า คลิปวีดีโอดังกล่าวคนถ่ายก็เป็นประจักษ์พยานได้ เพียงแต่ว่าหลักฐานนั้นต้องได้มาโดยชอบ และต้องสืบพยานประกอบว่าบันทึกได้อย่างไร รถคันนั้นเป็นรถของหน่วยงานนั้น ๆ จริงหรือไม่ เป็นรถคันเดียวกับในคลิปหรือไม่ ยกตัวอย่างคลิปรถสิบล้อ ปาดรถกระบะตกถนนเมื่อหลายเดือนก่อนที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังสามารถใช้เป็นหลักฐาน ในการเอาผิดคนขับรถสิบล้อได้ ดังนั้นทั้งสองกรณีนี้ต้องใช้ได้เท่ากันเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน
นายสุนทร กล่าวอีกว่า อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 4674/2543 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า “คลิปวีดีโอใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ถ้ามิได้เกิดจากการหลอกลวงหรือกระทำการโดยมิชอบ เช่น เราไปพบเห็นเหตุการณ์ ตำรวจเทศกิจหรือข้าราชการกำลังทุจริตหรือกำลังทำร้ายประชาชน ผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์บันทึกภาพไว้ พนักงานสอบสวน หรือ ศาลสามารถนำคลิปวีดีโอไปเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความจริง หรือ พิสูจน์ความผิดได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 226 เพราะถือว่าเป็นพยานวัตถุ แต่ถ้าเป็นการวางแผนเพื่อไปบันทึกภาพ พร้อมเสียง ก่อนขึ้นศาลเพียง 1 วัน เพื่อใช้เป็นการสร้างพยานหลักฐานใหม่ และแกล้งทำเป็นดี เพื่อให้คู่กรณีของตนเอง ยอมพูดออกมาเพื่อนำไปเป็นพยานหลักฐานใหม่ในชั้นศาล ถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ ต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความจริงหรือพิสูจน์ความผิดได้ (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 2414/2551)
การนำสืบพยานเกี่ยวกับคลิปวีดีโอหรือวงจรปิด จะต้องทำอย่างไรในชั้นศาล โดยทั่วไปใช้วิธีการเปิดให้ศาลดู และให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งดูพร้อมกัน แต่บางครั้งฝ่ายที่อ้างพยานวัตถุดังกล่าว ใช้วิธีการ Capture ภาพนิ่งและ Print Out ออกมาเป็นแผ่น เฉพาะที่เป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี ส่วนจะเปิดแผ่นคลิปหรือไม่ ไม่มีกฎหมายบังคับไว้ แต่ข้อที่ควรระวัง จะต้องไม่มีการตัดต่อ ถ้าหากมีการตัดต่อถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่มีข้อบกพร่อง ไม่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้
"คลิปวีดีโอเป็นพยานหลักฐานที่ดีที่สุด เพราะไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ จึงมีคุณค่าในการพิสูจน์ความจริง ดังนั้นหากพี่น้องประชาชนพบเห็นการกระทำที่เป็นการทุจริตคอรัปชั่น หรือพบเห็นเหตุการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคม ก็ขอให้ช่วยกันบันทึกไว้เป็นหลักฐานเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษต่อไป"