ช่อง 3 อย่าพูดเอาแต่ได้

ช่อง 3 อย่าพูดเอาแต่ได้

วานนี้ สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 3 ได้ชี้แจงแถลงไขเกี่ยวกับการออกอากาศในระบบอนาล็อกของตน

            หรืออาจจะเรียกว่า แก้ต่างให้กับตัวเอง

            นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการ รับหน้าแจกแจงเอง

            มีการอ้างทำนองว่า ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนเสียด้วย

            หลังจากรับฟังคำอธิบายแล้ว ก็เกิดข้อสงสัย-ข้อสังเกต และเกิดคำถามตามมาหลายประการ อาทิ

            1) ช่อง 3 จะวางแผนธุรกิจอย่างไร จะมีกลยุทธ์ใด มันก็เรื่องของช่อง 3 คงไม่มีใครว่ากะไร หากกลยุทธ์นั้นไม่มีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ หรือมีผลเหนี่ยวรั้งทิศทางการพัฒนาของส่วนรวม

            รถเมล์จะไปรับผู้โดยสารนอกป้าย ถูกต้องไหม

            ถึงอ้างผลประโยชน์ผู้โดยสารก็ฟังไม่ขึ้น

            2) ช่อง 3 อ้างเองว่า “ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2557 ประชาชนยังรับชมช่อง 3 original ผ่านเสาอากาศก้างปลา และหนวดกุ้งได้ตามปกติไปจนหมดอายุสัมปทานถึงปี 2563 โดยไม่มีปัญหา”

น่าคิดว่า ถ้าเช่นนั้น หากผู้ประกอบการโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวีจะไม่นำสัญญาณช่อง 3 ไปออกอากาศ ก็ย่อมไม่กระทบใดๆ ต่อประโยชน์สาธารณะ

            ส่วนใครอยากดูช่อง 3 ก็ดูได้ผ่านเสาก้างปลา หนวดกุ้ง ไม่มีปัญหาเลย

            ใครอยากลงโฆษณาทางช่อง 3 ก็จะต้องตระหนักถึงเงื่อนไขและสภาพความเป็นไปอันนี้ด้วยใช่ไหม? เวลาช่อง 3 ขายเวลาโฆษณา ได้บอกสภาพความจริงข้อนี้หรือไม่?

            หรือไพล่ไปบอกกับลูกค้าผู้ซื้อโฆษณาว่า คนดูทีวีในทุกระบบ ทุกช่องทาง จะสามารถดูรายการช่อง 3 อนาล็อกของตนเองได้ ไม่ว่าจะดูผ่านเสาก้างปลา หนวดกุ้ง จานดาวเทียมต่างๆ เคเบิลทีวี ฯลฯ ?

            ถ้าไปอ้างแบบนั้น ก็ตัวใครตัวมัน

            ช่อง 3 อนาล็อก ก็มีภาระที่จะต้องลงทุนดำเนินการเพื่อให้ตนเองได้ออกอากาศในระบบดิจิตอลคู่ ขนานไปด้วย เพื่อให้ลูกค้าของตนได้รับผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย จะไปผลักภาระต้นทุนให้คนอื่นไม่ได้

            จะเขียม จะเขี้ยว หรือจะเค็ม หรือจะอ้างว่าตนเองมีแผนธุรกิจอีกแบบหนึ่ง โดยยังไม่เอารายการ ช่อง 3 อนาล็อก (ที่มีละคร มีข่าวสรยุทธมีรายการต่างๆ ที่แฟนช่อง 3 คุ้นเคยกันนั้น) ไปออกในระบบดิจิตอลคู่ขนานเหมือนช่องอื่นๆ แต่เลือกที่จะรอจนกว่าช่อง 3 อนาล็อกนั้นจะหมดอายุสัมปทานในปี 2563 จึงจะกระโดดเข้าไปอยู่ดิจิตอล ถ้าเลือกจะทำธุรกิจแบบนี้ ช่อง 3 ก็ควรต้องรับผิดชอบต่อลูกค้าด้วยตนเอง

            รับผิดชอบทั้งต่อคนดูและลูกค้าที่ซื้อโฆษณาของช่อง 3

            ไม่ควรจะไปตีโพยตีพาย เรียกร้อง ฟ้องร้อง หรือโวยวายใครอื่นได้ทั้งสิ้น เพราะทราบเงื่อนไขของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอลอยู่แล้ว

            3) แฟนละครช่อง 3 ก็ดี, แฟนข่าวช่อง 3 ก็ดี, แฟนรายการช่อง 3 ก็ดีจะต้องเข้าใจว่า ช่อง 3 มีช่องทีวีดิจิตอลอยู่ในมือตั้งหลายช่อง หากคำนึงถึงแผนรายการของตนที่ดูทีวีในระบบดิจิตอล ก็สามารถจะนำเนื้อหารายการดำเนินการออกอากาศทางช่อง 3 อนาล็อกอยู่ในเวลานี้ ไปออกอากาศในช่องดิจิตอล เหมือนที่ฟรีทีวีช่องอื่นๆ เขาทำกัน 5, 7, 9, 11 ไทยพีบีเอส คือออกอากาศแบบคู่ขนาน ก็ย่อมไม่มีปัญหา

            เพราะฉะนั้น ในเมื่อสิ้นสุดการขยายเวลาของช่องอนาล็อกไปแล้ว ถ้า กสทช. มีการตัดสินใจใช้อำนาจหน้าที่ แล้วมีผลทำให้ผู้ประกอบการโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวีทั้งหลายไม่นำ สัญญาณช่อง 3 อนาล็อก ไปออกอากาศด้วย หรือทำให้คนที่ดูผ่านจานดาวเทียม ผ่านเคเบิล ผ่านทีวีระบบดิจิตอล ไม่สามารถดูช่อง 3 ที่เลือกเองว่าจะออกอากาศแบบอนาล็อกต่อไป แบบนี้ ช่อง 3 เองก็ไม่ควรมีสิทธิ์ที่จะไปเรียกร้อง ต่อว่า หรือฟ้องร้องเอากับใครทั้งสิ้น

            ลูกค้าโฆษณาช่อง 3 คนดูช่อง 3 ควรจะต้องเรียกร้องเอากับผู้บริหารช่อง 3 นั่นเอง

            4) การที่ช่อง 3 แถลงไข โดยพยายามกล่าวอ้างผลประโยชน์ของประชาชนคนดู อ้างให้คนดูทุกช่องทางสามารถดูทีวีอนาล็อกของตนเองได้ จึงอาจถูกตำหนิว่า “พูดเอาแต่ได้”

            อาจเข้าลักษณะ “จับคนดูเป็นตัวประกัน”

            ทั้งๆ ที่ ตนเองสามารถจะทำเพื่อคนดูเหมือนที่ช่องอื่นๆ เขาทำ โดยออกอากาศคู่ขนานในระบบดิจิตอล

            ถ้าทำแบบช่องอื่นๆ คนดูเสาหนวดกุ้ง ก้างปลา จานดาวเทียม เคเบิล ฯลฯ ดูได้หมด ปัญหาจบ

            แต่ช่อง 3 ก็จงใจ วางแผน ตั้งใจที่จะไม่ทำเช่นนั้น โดยคาดหวังกำไรสูงสุดของตนเป็นสำคัญเหนืออื่นใด

            5) ช่อง 3 พยายามกระโดดเกาะประกาศ คสช. ฉบับที่ 27 โอยอ้างว่า“มีผลเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนโดยทั่วไป เพื่อให้ผู้ชมในระบบดาวเทียมและเคเบิลทีวี ซึ่งมีอยู่ 70% ของประเทศ หรือประมาณ 15 ล้านครัวเรือน ยังสามารถรับชมช่อง 3 ได้ตามปกติ”

            ทั้งๆ ที่ เจตนาแท้จริงของประกาศ คสช.ดังกล่าว ก็เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารบ้านเมืองในช่วงสถานการณ์รอยต่อหลัง รัฐประหาร มิให้เกิดเหตุจอดำ จอดับ ชาวบ้านจะได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ มิได้มีเจตนาจะมาข้องเกี่ยวกับปัญหาอันเกิดจากความพยายามแสวงหาผลประโยชน์ ทางธุรกิจของช่อง 3 เองเลย

            ยิ่งช่อง 3 ทำธุรกิจทีวี หากินกับละครและรายการเล่าข่าวแบบที่ทำอยู่ มิใช่สถานีข่าวสารสาธารณะที่มุ่งสนับสนุนการปฏิรูปบ้านเมืองของ คสช.อย่างเต็มตัว ก็ลองคิดดูว่าควรจะให้กระโดดเกาะประกาศนั้นหรือไม่?

            ล่าสุด พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. ระบุว่า เรื่องนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ไม่ต้องโยนมาให้ คสช. พร้อมยืนยันว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 27 ไม่มีเนื้อหาใดที่เกี่ยวกับการจัดการระบบทีวีในประเทศ

            ดังนั้น เรื่องนี้ คนที่จะต้องตัดสินใจเด็ดขาด ตามอำนาจหน้าที่ คือ กสทช.


สารส้ม คอลัมน์กวนน้ำให้ใส


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์