สดร.เผย ดาวอังคารใหญ่เท่าดวงจันทร์ เป็นไปไม่ได้ เพราะดาวอังคารอยู่ห่างจากโลกมาก เห็นด้วยตาเปล่าเพียงแค่จุดสว่าง ชี้แค่ข่าวลือจากฟอร์เวิร์ดเมลล์ไม่มีมูลความจริง
วันนี้ (24 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานเกี่ยวกับข่าวลือเรื่อง ดาวอังคารใกล้โลกมีมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงใกล้วันที่ 27 ส.ค.ว่า
ต้นตอของข่าวลือดังกล่าว เริ่มแพร่กระจายเป็นภาษาอังกฤษ ในปี 2546 ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวอังคารใกล้โลกมากที่สุด ภายหลังมีการตัดทอนบางส่วนออก แล้วถูกนำมาเผยแพร่อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในปีที่ดาวอังคารใกล้โลก ทำให้ข้อมูลถูกบิดเบือนจากความจริงที่ว่า ดาวอังคารจะใกล้โลกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นผลให้มองเห็นดาวอังคารมีขนาดเท่าดวงจันทร์เมื่อดูด้วยกล้องโทรทรรศน์ กำลังขยายเพียง 75 เท่า จนกลายเป็นข้อความชวนตื่นเต้นว่าจะมีโอกาสเห็นดาวอังคารใหญ่เท่าดวงจันทร์ หรือ ดาวอังคารจะมีขนาดใหญ่ราวกับเห็นดวงจันทร์สองดวงบนท้องฟ้า
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า
ดาวอังคารไม่เคยและไม่มีวันที่จะเข้าใกล้โลกจนมีขนาดปรากฏใหญ่เท่ากับดวง จันทร์ ดาวอังคารมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 6,792 กิโลเมตร ห่างจากโลกเฉลี่ย 78,270,000 กิโลเมตร ดวงจันทร์มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3,476 กิโลเมตร ห่างจากโลกเฉลี่ย 384,400 กิโลเมตร แม้ดาวอังคารจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าดวงจันทร์ แต่เนื่องจากโคจรอยู่ห่างจากโลกในระยะทางที่ไกลมาก การสังเกตดาวอังคารด้วยตาเปล่าจึงมองเห็นเป็นจุดสว่างเล็กๆ บนท้องฟ้าเท่านั้น ต่างจากดวงจันทร์ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าแต่โคจรอยู่ใกล้โลก มากกว่า เราจึงมองเห็นดวงจันทร์ด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจนและมีขนาดใหญ่มาก การที่ดาวอังคารจะมีขนาดปรากฏบนท้องฟ้าใหญ่เท่าดวงจันทร์จึงไม่มีทางเป็นไป ได้เลย
ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดาวอังคารจะมีขนาดปรากฏบนท้องฟ้าใหญ่เท่าดวงจันทร์ได้ ก็ต่อเมื่ออยู่ห่างจากโลกเพียง 780,000 กิโลเมตร
หรือไกลกว่าดวงจันทร์ประมาณ 2 เท่า ซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย ตามปกติแล้วดาวอังคารจะโคจรมาใกล้โลกทุกๆ 26 เดือน ซึ่งดาวอังคารจะโคจรเข้ามาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (opposition) เป็นตำแหน่งที่ดาวอังคาร โลก และดวงอาทิตย์ เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกันโดยมีโลกอยู่ตรงกลาง ดาวอังคารเคยเข้าใกล้โลกมากที่สุดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2546 ขณะนั้นอยู่ห่างจากโลกที่ระยะห่างประมาณ 56 ล้านกิโลเมตร หลังจากนั้นดาวอังคารเข้าใกล้โลกที่สุดในเดือนตุลาคม 2548 ธันวาคม 2550 มกราคม 2553 มีนาคม 2555 และล่าสุดเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2557 ที่ระยะห่างประมาณ 92 ล้านกิโลเมตร
ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารถูก เผยแพร่อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว
บางครั้งอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริง ต้นตอข่าวลือต่าง ๆ ไม่ได้มาจากไหน แต่วนเวียนอยู่ในโลกไซเบอร์ที่มีทั้งเรื่องจริงและเรื่องที่ต้องอาศัย วิจารณญาณในการรับรู้ จึงขอให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ ศึกษาข้อมูลและความเป็นไปได้ด้วยเหตุและผล ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาอ้างอิง และควรระมัดระวังในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้วย” ดร.ศรัณย์ กล่าว