แฉ!ผ่าน FB เปิดจุดอันตรายแอร์พอร์ตลิ้งก์

แฉ!ผ่าน FB เปิดจุดอันตรายแอร์พอร์ตลิ้งก์


แฉ!ผ่าน FB เปิดจุดอันตรายแอร์พอร์ตลิ้งก์


วันนี้  ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกรุงเทพฯได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อชี้ให้เห็นถึงจุดอันตรายของรถไฟแอร์พอร์ตลิ้งก์พร้อมด้วยรูปถ่าย จำนวน 2 รูป โดยมีรายละเอียดดังนี้

เปิด “จุดอันตราย” บนแอร์พอร์ตลิงก์

ผมได้โพสต์เรื่อง “เตือน! เร่งซ่อมใหญ่แอร์พอร์ตลิงก์ วิ่งเกินระยะปลอดภัยแล้ว” เมื่อวันที่ 19 ก.ค.57 และเรื่อง “เตือนอีกครั้ง! เร่งซ่อมใหญ่แอร์พอร์ตลิงก์ด่วน” เมื่อวันที่ 11 ส.ค.57 หลังจากรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์เบรกเสียเมื่อวันที่ 9 ส.ค.57 ผมโพสต์ทั้งสองครั้งด้วยความห่วงใยในความปลอดภัยของผู้โดยสารและพนักงานของแอร์พอร์ตลิงก์ ไม่ต้องการให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้น

วันนี้ (16 ส.ค.57) ผมขอแสดงตัวอย่างให้เห็นถึง “จุดอันตราย” บางจุดบนรางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่เกิดขึ้นจากการขาดการซ่อมบำรุงรักษาด้วยรูปภาพดังต่อไปนี้


แฉ!ผ่าน FB เปิดจุดอันตรายแอร์พอร์ตลิ้งก์


1. รูปที่ 1 แสดงรูผุที่ผิวรางบริเวณทางแยกหรือทางสับหลีกของสถานีหัวหมาก ซึ่งอยู่ในขั้นวิกฤต เพราะสภาพรางเสียหายมาก จะทำให้รถไฟฟ้าทรงตัวได้ไม่ดี วิ่งไม่เรียบ ล้อไม่เกาะกับราง และขีดความสามารถในการรับน้ำหนักของรางลดน้อยลง

2. รูปที่ 2 สปริงเหล็กยึดรางบริเวณใกล้ช่วงโค้งของสถานีสถานีลาดกระบังไปสู่สถานีสุวรรณภูมิแตกหักหลายตัว ซึ่งจะทำให้รางเลื่อนหรือขยับตัวได้ทั้งแนวราบและแนวดิ่ง

ทั้งสองตัวอย่างของความเสียหายนี้อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและพนักงาน อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอาจจะร้ายแรงถึงขั้นรถไฟฟ้าตกรางได้ ซึ่งเราทุกคนไม่ต้องการให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงเช่นนี้ขึ้น ลองนึกภาพดูสิครับว่า ถ้ารถไฟฟ้าตกลงมาจากทางยกระดับสูงประมาณ 22 เมตร อะไรจะเกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงได้เรียกร้องให้ รฟท. เร่งซ่อมบำรุงใหญ่ (Overhaul) รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งคณะกรรมการรถไฟฯ (บอร์ด รฟท.) ได้เคยมีมติให้ซ่อมบำรุงใหญ่เมื่อวันที่ 19 ก.ย.56 ด้วยวงเงิน 300 ล้านบาท โดยให้เปิดประมูลแข่งขันด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Auction) แต่เวลาผ่านมาเกือบ 1 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีการซ่อมบำรุงใหญ่ จนกระทั่งในวันที่ 19 ส.ค. ที่จะถึงนี้ บอร์ด รฟท. จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาว่าจ้างบริษัทแห่งหนึ่งให้ทำการซ่อมบำรุงใหญ่ ซึ่งเป็นการจ้างโดยใช้วิธีพิเศษไม่มีการแข่งขัน ทำให้วงเงินเพิ่มขึ้นจาก 300 ล้านบาท เป็น 386 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 86 ล้านบาท ในขณะที่เนื้องานลดลงจากเดิม

โดยสรุป ผมขอเสนอให้เร่งซ่อมบำรุงใหญ่โดยการเปิดประมูลให้มีการแข่งขันเพื่อคัดเลือกบริษัทที่มีประสบการณ์ด้วยราคาที่เหมาะสม หากเห็นว่าวิธีการนี้จะทำให้ล่าช้าก็ใช้วิธีพิเศษ แต่ต้องเชิญบริษัทที่มีประสบการณ์มากกว่า 1 ราย มายื่นซอง เพราะจะทำให้เกิดการแข่งขันทั้งด้านเนื้องานและราคา

คุณคิดว่าบอร์ด รฟท. จะมีความเห็นอย่างไรครับ

ขอบคุณข้อมูลและภาพจากเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์