14 ส.ค.57 นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน(คน.) กล่าวถึงกรณีที่ผู้บริโภคร้องเรียน
เรื่องร้านอาหารบริเวณชายหาดหัวหินมีการขายอาหารในราคาที่สูงเกินจริงว่า ในเรื่องนี้ได้มีการกำชับให้กรมการค้าภายในจังหวัด และพาณิชย์จังหวัด เข้าตรวจสอบการจำหน่ายอาหารบริเวณแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค แต่ทั้งนี้การพิจารณา กฎระเบียบ ข้อกำหนดราคาจะเป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ จะมีการดำเนินการตามที่นโยบายที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควร ในการเข้าตรวจสอบดูแลความเหมาะสม เพื่อให้ได้ราคาที่แท้จริงของพื้นที่ เพราะตามกฎหมายได้แบ่งอำนาจไว้แล้วอย่างชัดเจน
“การจะระบุว่าราคาอาหารแพงเกินจริงหรือไม่ จงมีการเข้าไปตรวจสอบในส่วนขงต้นทุนต่างๆ ทั้งวัตถุดิบที่ใช้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ สถานที่ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาว่าราคาอาหารสมเหตุสมผลหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าอาหารแต่ละชนิดและแต่ละพื้นที่มีต้นทุนการผลิตที่แตกต่างกัน ไม่สามารถระบุได้ในทันที”
สำหรับการดำเนินการเรื่องของอาหารอาจจะมีมาตรการจัดการจากขั้นเบาไปถึงขั้นที่หนัก
โดยขั้นแรกได้ให้การค้าภายในจังหวัด และพาณิชย์จังหวัด กำชับให้ผู้ค้ากำหนดราคาที่เป็นธรรม และไม่ค้ากำไรเกินควร หรือเฉลี่ยต้องคิดกำไรไม่เกิน 20-30% ของต้นทุน แต่หากผู้ค้าไม่ให้ความร่วมมือทางผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีอำนาจในการประกาศราคาแนะนำของอาหารในพื้นที่จังหวัดนั้นๆได้ทันที และหากยังมีผู้ขายเกินราคาแนะนำขั้นสูงสุดกรมการค้าภายในอาจมีการประกาศราคาสินค้าอาหารเป็นราคาสินค้าควบคุมได้
“ก่อนหน้านี้เคยคิดที่จะนำรายการอาหารเข้ามาอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุมตามกฎหมายของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ แต่เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีการค้าเสรี ทุกจังหวัดมีร้านอาหารอยู่เป็นจำนวนมากและมีการแข่งขันสูง ดังนั้นก็จะเกิดความเป็นธรรมในเรื่องของราคา และหากนำสินค้าทุกอย่างเข้าเป็นสินค้าควบคุมก็จะไม่เกิดการแข่งขัน แต่อย่างไรก็ตามการกำหนดสินค้าควบคุมนั้นก็มีขั้นตอน หลักเกณฑ์ในการพิจารณาอยู่แล้ว”
อย่างไรก็ตามในส่วนของผู้บริโภคหากเห็นว่าการใช้กฎหมายยังควบคุมไม่ได้ผลเต็มที่ ร้านค้ายังมีพฤติกรรมการขายราคาที่เกินควร
ขั้นต้นผู้บริโภคก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกในการรับบริการจากร้านนั้นๆ หรืออาจใช้การลงโทษทางสังคมกับร้านอาหารที่โกงราคารายการอาหาร เหมือนในต่างประเทศ ที่ใช้มาตรการในการบอกต่อไม่ให้ทานอาหารในร้านนั้น จนทำให้ร้านอาหารไม่สามารถอยู่ได้ และปรับลดราการราคาอาหารมา อีกทั้งผู้บริโภคยังสามารถแจ้งชื่อร้านที่เข้าข่ายการกระทำผิดเข้ามายังกรมการค้าภายในที่สายด่วน 1569 ได้ตลอดเวลา โดยปัจจุบันมีกฎหมายที่ลงโทษการกระทำผิดจากการค้ากำไรเกินควร ตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการการ มาตรา 29 ที่มีโทษสูงสุดจำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท และยังมีกฎหมายที่ใช้ลงโทษผู้หลอกลวงผู้บริโภค กรณีฉ้อโกง มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 6,000 บาทด้วย
"หากผู้บริโภคเห็นการค้ากำไรเกินควร เบื้องต้นอาจมีการใช้การลงโทษทางสังคม โดยการบอกต่อกันไม่ให้ไปทานอาหารร้านดังกล่าว เหมือนที่ต่างประเทศเคยทำและสำเร็จมาแล้ว ประเทศไทยก็ควรที่จะใช้มาตรการเหล่านี้บ้าง ทั้งนี้ในอดีตกรมฯ เคยใช้มาตรา 29 จัดการกับผู้ที่กระทำผิดไปแล้ว เช่น ร้านอาหารอาหารทะเล แถวสามย่าน เป็นต้น และที่ผ่านมากรมฯ ยังได้รับการร้องเรียนจากสายด่วน 1569 ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของร้านค้าที่ไม่ติดป้ายราคาสินค้า และเรื่องของการขายแก๊สหุงต้มเกินราคา เพราะผู้บริโภคเกิดความสับสนเกี่ยวกับราคาแก๊สหุงต้มที่มีการปรับขึ้นลงเฉลี่ยต่อเดือนทำให้เมื่อสั่งซื้อเห็นว่าเป็นราคาที่แพง"
คน.แนะผู้บริโภคแบนร้านอาหารราคาโหด ชี้แจ้งสายด่วน1569
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ คน.แนะผู้บริโภคแบนร้านอาหารราคาโหด ชี้แจ้งสายด่วน1569