ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. แถลง สรุปผลการตรวจสอบอาคารยูเพลสคอนโดมิเนียม 6 ชั้น ถล่มทับคนงานเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากว่าสาเหตุน่าจะมาจาก 3 ประเด็น คือ แบบอาคาร การรับน้ำหนักบรรทุกและการกำหนดมิติของโครงสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐานวิศวกรรมวัสดุที่ใช้ก่อสร้างมีคุณภาพและมีมาตรฐานหรือไม่ และประเด็นสุดท้ายที่ให้น้ำหนักมากที่สุด คือ วิธีการก่อสร้าง ซึ่งจะต้องตรวจสอบขั้นตอน การควบคุมงานว่ามีการเร่งก่อสร้างหรือไม่ โดยอาจพิจารณาได้จากรายงานการก่อสร้าง
ด้าน รองศาสตราจารย์ เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. ตั้งข้อสังเกต การเกิดเหตุถล่มในครั้งนี้ว่า
จากการตรวจสอบโครงสร้างและตรวจสอบแปลนแล้วพบว่าการก่อสร้างเป็นการก่อสร้างแบบติดตั้งแผงสำเร็จรูป หรือการก่อสร้างแบบแผ่นพื้น ซึ่งจะมีรอยต่อระหว่างแผ่นพื้นกับเสา ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเสาริม ซึ่งมี 4 เสา โดยเสาริมซ้าย มีความอ่อนแรงรับแรงเฉือนเจาะไม่ได้เต็มพื้นที่ ประกอบกับมีการเทคอนกรีตบนชั้นดาดฟ้า และแผงนั้นไม่สมบูรณ์ มีการนั่งร้านค้ำยันในการก่อสร้างแผ่นพื้นมีจำนวนไม่เพียงพอ ทำให้เสาต้นดังกล่าวได้สูญเสียตำแหน่งอย่างมาก จึงทำให้คานรับน้ำหนักไม่ไหวจนเกิดการพังทลายลง และน้ำหนักบรรทุกทั้งหมดที่เสาต้นนี้เคยรับจะส่งไปที่เสาข้างเคียง และมีการวิบัติอย่างต่อเนื่องจนเกิดการพังทลายลงมา
ส่วนกรณีพื้นที่ดังกล่าว เคยถูกน้ำท่วมเมื่อปี 2554 จะทำให้เกิดการทรุดตัวเนื่องจากดินอ่อนนั้น ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน
เพราะตามหลักแล้ว การก่อสร้างจะมีการถ่ายเทน้ำหนักลงไปยังเสาเข็มในพื้นดินที่มีความแข็งแรงที่สุด ขณะที่การแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตามหลักแล้ว ควรเพิ่มคานเข้าไปเพื่อยึดเสาต้นนี้กับเสาต้นอื่น ส่วนอาคารข้างเคียงที่สร้างแบบเดียวกัน หากมีการร้องขอเข้ามา ทาง วสท. ก็พร้อมเข้าไปตรวจสอบ
ทั้งนี้ สำหรับอาคารดังกล่าวนั้น ต้องมีการตรวจสอบต่อไปว่า ได้ปฎิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หรือไม่