สำนักข่าวทีวีไทย: วันนี้ (3 ส.ค.57) มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ออกแถลงการณ์เรื่อง "ขอให้ คสช. ตรวจสอบข้อกล่าวหาของ น.ส. กริชสุดา อย่างเร่งด่วนโดยคณะผู้ตรวจสอบที่เป็นอิสระต่อกรณีถูกทำร้ายร่างกาย การได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้ายและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะถูกควบคุมตัวโดยคสช."
แถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่มีคลิปวีดีโอเผยแพร่ภาพเมื่อคืนวันที่ 2 สิงหาคม 2557 ซึ่งเป็นการให้สัมภาษณ์ของ น.ส. กริชสุดา คุณะแสน
ว่าขณะที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันที่มีการปล่อยตัววันที่ 24 มิถุนายน ปรากฏเป็นข้อกล่าวหาว่า ระหว่างถูกควบคุมตัวนั้น ตนถูกทำร้ายร่างกายโดยการตบ ชก ตี บริเวณศีรษะและร่างกาย รวมทั้งถูกปิดตา มัดมือ ไม่สามารถเข้าห้องน้ำหรือปฏิบัติกิจวัตรส่วนตัวได้รวมทั้งไม่สามารถอาบน้ำ ได้ มีเจ้าหน้าที่ที่เชื่อว่าเป็นผู้หญิงถอดเสื้อผ้าและอาบน้ำให้ รวมทั้งการบรรยายถึงการใช้ถุงพลาสติกปิดหน้าทำให้หายใจไม่ออกจนสลบและถูกนำ ตัวใส่ในถุงใส่ศพ การกระทำดังกล่าวถูกอ้างว่าเพื่อบังคับให้เธอสารภาพเรื่องช่องทางการได้มา ซึ่งเงินช่วยเหลือครอบครัวนักกิจกรรมเสื้อแดงและบังคับให้กล่าวหาบุคคลอื่น เรื่องการสั่งสมอาวุธ
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความกังวลต่อเนื้อหาในคลิปคำให้สัมภาษณ์ของ น.ส.กริชสุดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ น.ส.กริชสุดาถูกเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวไปควบคุมไว้เป็นเวลาเกือบ 1 เดือนโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา เป็นการควบคุมตัวในสถานที่ลับ และไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อญาติหรือทนายความ อีกทั้งยังเป็นการควบคุมตัวนานกว่าที่กฎอัยการศึกให้อำนาจไว้นั้น
ภาย ใต้หลักสิทธิมนุษยชนสากลพบว่า การทำให้บุคคลสุญเสียอิสรภาพและตกอยู่ในพฤติการณ์การควบคุมตัวที่ไม่สามารถ
ตรวจสอบได้และปราศจากหลักประกันทางกฎหมายดังกล่าวย่อมทำให้ผู้ถูกควบคุมตัว เสี่ยงต่อการถูกทรมานและการละเมิดสิทธิขึ้นพื้นฐานอื่นๆรวมถึงสิทธิในชีวิต
"เพื่อยืนยันในแนวนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามที่ได้เคยประกาศต่อสาธารณะและประชาคมระหว่างประเทศ) ว่าจะเคารพต่อสิทธิมนุษยชน การใช้ควบคุมตัวบุคคลจะไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษชน การทำร้าย ทรมาน หรือการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คสช. มีความจำเป็นต้องเปิดให้มีการตรวจสอบกรณีร้องเรียนดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระ เพื่อให้ความจริงปรากฏต่อสาธารณะโดยเร็ว โดยอาจต้องมีผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ในการตรวจสอบผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจของผู้เสียหาย เพื่อพิสูจน์การกล่าวอ้าง
และหากมีมูลว่ามีกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่จริง ก็จะต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เนื่องจากเป็นการกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา เป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดแจ้ง"