อดีตรองผู้ว่า กทม.โพสต์แก้หนี้รถไฟสไตล์อินเดีย
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ อดีตรองผู้ว่า กทม.โพสต์แก้หนี้รถไฟสไตล์อินเดีย
นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความ ในเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ดึกวันที่ 12 กรกฎาคม แก้หนี้รถไฟสไตล์อินเดีย
รถไฟอินเดียมีพนักงานมากที่สุดในโลกโดยมีถึง1.6 ล้านคน และมีผู้โดยสารมากถึงวันละ 18 ล้านคน ถึงวันนี้รถไฟอินเดียมีอายุ 166 ปี
ก่อน ปี พ.ศ. 2547 การรถไฟอินเดียมีผลประกอบการขาดทุน โดยมีหนี้สะสมถึงประมาณ 480,000 ล้านบาท เป็นองค์กรที่สิ้นหวังเนื่องจากถูกคาดการณ์ว่าจะล้มละลายภายในปี พ.ศ. 2558 รถไฟอินเดียมีรายได้น้อย และมีปัญหามากมาย จากการที่มีพนักงานจำนวนมาก เป็นผลให้รถไฟอินเดียต้องใช้เงินจากรายได้สูงถึง 91% เป็นค่าเงินเดือน แต่หลังจากปี พ.ศ. 2547 รถไฟอินเดียสามารถทำกำไรได้ด้วยฝีมือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงรถไฟที่ชื่อ Lalu Prasad Yadav
Lalu ใช้กลยุทธ์ในการทำให้รถไฟอินเดียมีกำไรโดยการเพิ่มปริมาณผู้โดยสารและปริมาณสินค้า แต่ไม่เพิ่มค่าโดยสารและค่าขนส่งสินค้า ซึ่งอธิบายได้โดยสรุปดังนี้
1. เพิ่มน้ำหนักบรรทุกสินค้าจาก 81ตันต่อตู้ เป็น 90 ตันต่อตู้
Lalu ยึดถือคติว่า "ถ้าเรารีดนมวัวไม่หมด วัวจะป่วย" เขาให้เหตุผลว่าทุกวันนี้ตู้สินค้าก็บรรทุกเกิน 81 ตันอยู่แล้ว โดยรายได้ส่วนเกินถูกพนักงานบางคนเก็บใส่กระเป๋า แล้วทำไมจึงไม่ทำให้เป็นการบรรทุกที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการทุจริตเสียล่ะ
2. คิดนอกกรอบ
Lalu ตัดสินใจ Upgrade ตั๋วโดยสารหากมีที่นั่งในชั้นที่สูงกว่าว่าง แนวคิดนี้ถูกคัดค้านจากผู้บริหารด้านการเงินของการรถไฟอินเดีย Lalu จึงชี้แจงว่าที่นั่งว่างไม่สามารถทำเงินได้ แต่ถ้าเรา Upgrade ตั๋วโดยสารชั้นที่ต่ำกว่าขึ้นมาแทนที่ ก็จะทำให้ผู้โดยสารที่อยู่ใน Waiting List สามารถซื้อตั๋วได้ ซึ่งจะทำให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้น
3. เปลี่ยนแปลงการตรวจสภาพรถไฟจากต้องตรวจหลังจากวิ่งถึงจุดหมายปลายทางเป็นตรวจตามระยะทาง
Laluให้เหตุผลว่าการตรวจสภาพรถไฟที่ปฏิบัติกันก่อนหน้านี้ไม่เหมาะสม เพราะรถไฟบางขบวนวิ่งถึงปลายทางเป็นระยะทางยาวมาก บางขบวนวิ่งถึงปลายทางเพียงแค่ระยะทางสั้นๆ แต่ต้องตรวจสภาพอย่างละเอียดเหมือนกัน โดยใช้เวลานานถึง 16 ชม. ทำให้เสียโอกาสในการขนส่งผู้โดยสารหรือสินค้า Lalu จึงตัดสินใจเปลี่ยนข้อปฏิบัติใหม่ โดยกำหนดให้ตรวจสภาพรถบรรทุกผู้โดยสารทุกๆ ระยะทาง 3,500 กม. และตรวจสภาพรถบรรทุกสินค้าทุกๆ ระยะทาง 4,500 กม.
4. ใช้ประโยชน์จากข้อมูล
Lalu ได้จัดทำสถิติจำนวนผู้โดยสารตามฤดูกาล เป็นผลให้เขาสามารถเพิ่มหรือลดตู้รถไฟได้ตามความต้องการของผู้โดยสาร เขาบอกว่าเรื่องนี้เป็นการตัดสินใจที่ง่ายมาก แต่ไม่มีใครสนใจอย่างจริงจัง เนื่องจากต้องปรับแก้การจองตั๋วด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เขากล่าวต่อว่าข้อมูลมีอยู่พร้อมแล้ว เพียงแค่เราต้องรู้จักใช้ให้เหมาะสมเท่านั้น
นั่นคือส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่ Lalu ใช้ Lalu ได้รับเชิญไปถ่ายทอดประสบการณ์ในการแก้หนี้ของรถไฟอินเดียให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เช่น Harvard และ Wharton เป็นต้น นักศึกษาของ Harvard คนหนึ่งวิจารณ์ว่า กลยุทธ์ของ Lalu ไม่มีอะไรใหม่ แต่สิ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จก็คือการปฏิบัติตามกลยุทธ์อย่างจริงจัง นั่นคือสิ่งที่แตกต่างจากกูรูด้านบริหารจัดการคนอื่น
ถ้าผู้บริหารของ รฟท. ลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง คุณคิดว่าจะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับรถไฟไทยไหมครับ