ภาพอาหารกลางวันเด็กอนุบาลที่เผยแพร่ในโลกโซเชียลมีเดีย กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อผู้ปกครองจ่ายเงินให้โรงเรียน แต่พบว่าลูกได้กินข้าวกลางวันเท่าแมวดม
จากกรณีที่มีนักศึกษาฝึกสอนโพสต์ภาพอาหารกลางวันของเด็กอนุบาลในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งย่านบางพระ
ภายในภาพมีเพียงข้าวอยู่ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ กับข้าวนิดหน่อยซึ่งรวมอยู่ในข้าว และผลไม้คนละลูก หรือขนมคนละ1ชิ้น วางอยู่ในถาดหลุม จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายในหมู่ผู้ปกครองและโลกโซเซียลมีเดียว่าเหมาะสมหรือไม่
แน่นอนกระแสความไม่พอใจจึงตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อความลับถูกเปิดเผย หลายคนตั้งคำถามถึงความเหมาะสม
หลายฝ่ายแสดงความคิดเห็นเป็นห่วงว่าบุตรหลานของตนเองจะโดนพฤติกรรมแบบนี้จากทางโรงเรียนหรือไม่ บางคนถึงขนาดกลับไปสำรวจตรวจสอบดูว่าตารางที่โรงเรียนขึ้นโชว์ผู้ปกครองกับของจริงที่เด็กกินนั้นเหมือนกันหรือไม่
แล้วอาหารที่เด็กๆ ควรบริโภคคืออะไรปริมาณเท่าไหร่? “เดลินิวส์ออนไลน์” ได้รวบรวมข้อมูลมาให้ได้ทราบกัน ดังนี้
ทางการแพทย์ระบุว่า ความต้องการพลังงานและสารอาหารใน1วันของเด็กอายุ 4-6ปี ประมาณ1,450กิโลแคลอรี แบ่งเป็น คาร์โบไฮเดรต50-60% โปรตีน10-15%และไขมัน25-30% นอกจากสารอาหารที่ต้องนำมาใช้เป็นพลังงานแล้ว ร่างกายยังต้องสะสมสารอาหารไว้เพื่อบำรุงรักษาและเก็บไว้ใช้ซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอ เนื่องจากเด็กวัยนี้มีความต้องการสารอาหารและพลังงานตามอัตราการเจริญเติบโต ตามกิจกรรมหลากหลายที่ทำในทุกวัน และพฤติกรรมการกินที่แตกต่างกันไป
วิธีคำนวณคุณค่าอาหารที่เด็กควรได้รับในแต่ละวันสัดส่วนอาหาร3มื้อ
ในแต่ละวันของเด็กวัย4 -5ปี ดังนี้ ไข่1ฟอง, นม (นมถั่วเหลือง โยเกิร์ต) 2 – 3แก้ว , เนื้อสัตว์ต่างๆ (อาจใช้ถั่วแทนได้บ้าง) 3 ½ – 4ช้อนโต๊ะ , ข้าวสวย(ขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น มะกะโรนี) 2 ½ – 3ถ้วยตวง (หรือประมาณ5 - 6ทัพพีต่อวัน) , ผักใบเขียวและผักอื่นๆ8ช้อนโต๊ะ , ผลไม้ต่างๆ ส้ม ชมพู่ 1-2ผล หรือสับปะรด แตงโม6-8ชิ้น½ – 1ถ้วยตวง และไขมัน(จากน้ำมันพืช)1 - 2ช้อนโต๊ะ
ทั้งนี้ผู้ปกครองคงจะฝากความหวังไว้ที่โรงเรียนอย่างเดียวคงจะไม่ได้ เนื่องจากหากมองตามสภาพ โรงเรียนก็เพียงแต่รับฝากบุตรหลานของเราไว้เท่านั้น จะใส่ใจรักใครเอ็นดูเท่าพ่อ-แม่คงไม่ได้ ฉะนั้นพ่อ-แม่จึงควรจัดเตรียมอาหารที่มีประโยชน์ให้เด็กๆ ได้ทานในแต่ละมื้อ
แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของโรงเรียน เมื่อได้เรียกเก็บค่าเทอม ค่าอาหารไปแล้วก็ต้องดูแลเด็กๆ เหล่านั้นให้ดีที่สุด ต้องรักและเอาใจใส่เปรียบเสมือนบุตรหลานของคุณ เพราะเด็กในวันนี้คือกำลังที่สำคัญของชาติ อย่าละเลยเพียงเพราะมองเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน
ขอบคุณข้อมูลจาก : นิตยสารรักลูก, นิตยสารModernMom , นิตยสารKids & School