ศิวลึงค์ทองคำถ้ำบนเขาพลีเมือง นครศรีธรรมราช พบมานานกว่า 3-4 ปี ยันไม่พบแค่ 2 ชิ้น แต่พบถึง 4 ชิ้น เตรียมผลักดันแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์เมืองไทย
จากกรณีที่นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ออกเปิดเผยว่า นายเสกสันต์ นาคกลัด ราษฏรในพื้นที่ ต.สิชล อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช
ได้เข้าไปขุดมูลค้างคาวในถ้ำบนเขาพลีเมือง และได้ขุดค้นพบศิวลึงค์ทองคำ 2 ชิ้น ซึ่งจากการประเมินอายุและลักษณะของศิวลึงค์ เป็นแบบประเพณีนิยมอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 หรือมีอายุกว่า 1,000 ปี จนสร้างความแตกตื่นฮือฮาให้กับนักประวัติศาสตร์ นักการศาสนาและประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก จนมีการสอบถามหาจุดถ้ำเขาพลีเมือง สถานที่พบศิวลิงค์ทองคำ เพื่อเดินทางไปชมอย่างกว้างขวาง ตามที่เดลินิวส์ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้า วันที่ 29 มี.ค. นายสุรินทร์ ชลสินธ์ รองประธานสภา อบต.สิชล พร้อมด้วย รองนายก อบต.สิชล
และทีมงานได้เดินทางเข้าไปตรวจสอบยังถ้ำเขาพลีเมือง หลังจากมีการเปิดเผยเรื่องการพบศิวลึงค์ทองคำและโบราณวัตถุจำนวนมาก ทั้งนี้ได้มีกลุ่มบุคคลพยายามจะลักลอบเข้าไปขุดคุ้ยค้นหาโบราณวัตถุและของมีค่า ซึ่งอาจจะทำให้พื้นที่ได้รับคามเสียหายและของมีค่าภายในถ้ำอาจจะถูกโยกย้ายออกไปได้ จึงได้มีการจัดเจ้าหน้าที่มาคอยรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดกวดขันตลอด 24 ชม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามชาวบ้านทราบว่า การขุดพบศิวลึงค์ทองคำดังกล่าวเป็นที่รับรู้ของชาวบ้านในพื้นที่มา 3-4 ปีแล้ว
โดยก่อนที่นายเสกสันต์ นาคกลัด จะขุดพบนั้นได้มีลางบอกเหตุที่น่าอัศจรรย์หลายประการ โดยเฉพาะน้ำขณะที่เดินทางเข้าไปบริเวณปากถ้ำในตอนเช้าเกิดลมพัดจนน้ำค้างที่ค้างอยู่ตามใบไม้กิ่งไม้กระจายลงมาถูกเสื้อผ้าของนายเสกสันต์ แต่น้ำค้างกลับมีสีแดงเหมือนเลือดสด ๆ รวมทั้งเรื่องราวเหลือเชื่ออื่น ๆ อีกหลายประการ นายเสกสันต์ จึงอธิษฐานบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเทวดาฟ้าดิน ให้ช่วยปกป้องคุ้มครองตนเองและครอบครัว จนกระทั่งนายเสกสันต์ ขุดพบแผ่นอิฐขนาด 16 ซม.ยาว 30 ซม.เรียงกันอยู่ จึงงัดแผ่นอิฐดังกล่าวพบอิฐแผ่นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เมื่อยกอิฐขึ้นปรากฏว่าภายในมีผอบทำด้วยโลหะ มีฝาปิด เมื่อเปิดฝาผอบออกจึงพบศิวลึงค์ทองคำดังกล่าว.
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อไปว่า โดยข้อเท็จจริงนายเสกสันต์ พบศิวลึงค์ ทองคำถึง 4 องค์ ทั้ง 4 องค์มีและขนาดเท่ากัน
โดยได้ปกปิดเป็นความลับมาตลอด เนื่องจากในตอนแรกไม่คาดคิดว่าศิวลึงค์ทั้งหมดจะเป็นทองคำ เมื่อนำเรื่องเร้นลับที่ตัวเองประสบไปเล่าให้เพื่อนบ้านฟังก็ไม่มีใครเชื่อ และบางคนก็หาว่านายเสกสันต์เพี้ยนหรือบ้าไปแล้ว และเมื่อตรวจสอบจนแน่ใจว่าเป็นศิวลึงค์ทองคำ จึงเกิดความกลัวไม่กล้าเก็บไว้กับตัว เกรงจะเกิดอาถรรพ์จึงพาไปแอบซ่อนไว้ตามที่ต่าง ๆ มาโดยตลอด อย่างไรก็ตามนายเสกสันต์ ได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้นายสุรินทร์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งของถ้ำพลีเมือง ฟังอย่างละเอียด ทำให้คนในพื้นที่ที่รับรู้รับทราบเรื่องนี้อย่างละเอียดมีเพียง 2 -3 คนเท่านั้นประกอบด้วยนายเสกสันต์ ผู้ค้นพบ นายสุรินทร์ รองนายก อบต. และอีกคนเป็นเพื่อนที่นายเสกสันต์นำศิวลึงค์ไปฝากไว้ในช่วงแรกๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อไปอีกว่า ศิวลึงค์ทองคำที่พบ 4 องค์ได้มีอาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราชมาขอไป 1 องค์
โดยให้ค่าตอบแทนนายเสกสันต์ เป็นเงิน 20,000 บาท และนายเสกสันต์ นำไปมอบให้กับนายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จำนวน 2 องค์ โดยทางกรมศิลปากรได้มอบค่าตอบแทนให้นายเสกสันต์ เป็นเงิน 1.5 แสนบาท ส่วนอีกองค์หนึ่งเพื่อนของนายเสกสันต์ ยังเก็บเอาไว้ โดยนายสุรินทร์ รองประธาน อบต.สิชล ซึ่งถือเป็นนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคนหนึ่งเตรียมจะออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริง และเป็นแกนนำในการศึกษาประวัติศาสตร์ของพื้นที่อย่างจริงจัง พร้อมเตรียมเสนอโครงการพัฒนาถ้ำพลีเมือง ให้เป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างจริงจัง เพราะเชื่อว่าในพื้นที่ยังมีโบราณวัตถุและของมีค่าซ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญพื้นที่ดังกล่าวจะกลายเป็นพื้นที่มีคุณค่าในการศึกษาทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยต่อไป.