ภาวะโลกร้อนกระทบทะเลอันดามันน้ำเย็น-มีตะกอน

คม-ชัด-ลึก

17 เมษายน 2550 12:20 น.
นักวิชาการชี้ปรากฏการณ์เอลนีโญจากภาวะโลกร้อนส่งผลให้ธรรมชาติใต้ท้องทะเลอันดามันเปลี่ยนแปลง น้ำทะเลเป็นน้ำเย็นมีตะกอนขุ่น เผยนักท่องเที่ยวเริ่มย้ายจุดดำน้ำลึกจากอันดามันใต้ไปเหนือ เพราะดำน้ำแล้วมีอาการคันตามผิวหนังและปะการังอ่อนที่สวยงามเริ่มเหี่ยวเฉา

ดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า จากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทำให้เกิดหลายปรากฏการณ์ ที่เกี่ยวกับทะเลโดยตรงคือปรากฏการณ์เอลนีโญในเมืองไทยได้รับผลกระทบหลายครั้ง ที่ชัดเจนคือ 10 ปืที่ผ่านมา น้ำทะเลอันดามันเย็นลง ในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน และเกิดน้ำร้อนในอ่าวไทยในเดือนพฤษภาคม-กันยายน และปี 2550 นี้ ลักษณะคล้ายคลึงกัน คือในอันดามันน้ำเย็น มาจากน้ำที่อยู่ในทะเลลึกเคลื่อนที่เข้าสู่พื้นที่ใกล้ฝั่ง ซึ่งน้ำนอกจากเย็นแล้วยังขุ่นมีตะกอนจากทะเลลึก ซึ่งเดิมไม่เคยเข้ามาในเขตตื้น แต่มากับมวลน้ำเย็น และตะกอนนี้มีธาตุอาหารจำนวนมาก ทำให้แพลงตอนที่อยู่ในเขตน้ำตื้นเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว นักท่องเที่ยวที่ไปว่ายน้ำหรือดำน้ำจะรู้สึกว่า น้ำเย็น น้ำขุ่นและคันยิบ ๆ เพราะแพลงตอนบางตัวซึ่งมีพิษแต่ไม่อันตรายถึงชีวิตแต่ทำให้คัน นอกจากนี้แพลงตอนทำให้มีสัตว์น้ำขนาดใหญ่และสัตว์น้ำแปลก ๆ ตามเข้ามา เช่น กระเบนราหู

แพลงตอนเพิ่มจำนวนมหาศาลทำให้เกิดปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ ออกซิเจนในน้ำลดลง และแพลงตอนบางชนิดเป็นพิษ ทำให้สัตว์น้ำตาย

สิ่งที่เห็นคือน้ำเป็นสีแดง เป็นแนว ๆ เป็นหย่อมแดง ๆ คนสมัยก่อนเรียกว่า ขี้ปลาวาฬ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงที่อากาศร้อนขึ้น แดดจัด แต่น้ำเย็นธาตุอาหารเยอะ แพลงตอนได้แดดก็เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วเพราะเป็นแพลงตอนพืช ส่วนใหญ่จะเกิดในเขตน้ำนิ่ง เช่น ใกล้ปากแม่น้ำ ชายฝั่งหรือมีเกาะบังไว้ จะเกิดในช่วงที่กระแสน้ำไม่ค่อยหมุนเวียน คือช่วงขึ้น 7-8 ค่ำหรือแรม 7-8 ค่ำ ที่มีรายงานพื้นที่ จ.ตรัง สตูล แถวหมู่เกาะตะรุเตา หาดเจ้าไหมก็มีและก็มีปลาตายเป็นบางจุด ทั้งหมดนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ พอถึงพฤษภาคม-กันยายน น้ำในอ่าวไทยจะร้อนเหมือนกับปี 40-41 หรือไม่ คือสิ่งที่ติดตามอยู่ ดร.ธรณ์ กล่าว

ดร.ธรณ์ กล่าวต่อว่า น้ำเย็น น้ำร้อน นอกจากมีปัญหาเกี่ยวกับแพลงตอนและปลาแล้ว สัตว์หลายชนิดที่ต้องอยู่ในน้ำเย็นมาก ๆ ก็เกิดปัญหา

โดยปี 2540-2541 ได้เรียนรู้ว่าเมื่อน้ำเย็นมาก ปะการังอ่อนสีสวย สำหรับนักดำน้ำในบางพื้นที่ เช่น หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นบางหย่อมหายไป มาครั้งนี้ 10 ปีให้หลัง ก็พบว่าปะการังสีสวย ๆ ในจุดดำน้ำที่เรียกกันว่า หินแดง หินม่วง จ.กระบี่ เริ่มประสบปัญหาเหี่ยวเฉาและมีสภาพอ่อนแอ ซึ่งอาจจะคล้ายกับหมู่เกาะสุรินทร์เมื่อ 10 ปีก่อน แต่เป็นเฉพาะบางจุดเท่านั้น แต่ก็ทำให้นักดำน้ำที่ไปดำทางด้านอันดามันใต้ คือหินม่วงหินแดงค่อนข้างผิดหวัง เพราะปะการังอ่อนเฉา และบริเวณดังกล่าวไม่ค่อยมีปลา ปลาใหญ่จะขึ้นไปอยู่อันดามันเหนือ ตอนนี้นักดำน้ำส่วนใหญ่ย้ายไปทางอันดามันเหนือ คือหมู่เกาะสุรินทร์, สิมิลัน และเกาะต่าง ๆ ใน จ.พังงา รวมทั้ง จ.ภูเก็ต ยังอยู่ในภาวะที่มีปลาใหญ่เยอะ แต่พอลงมาที่กระบี่ ตรัง สตูล ก็เริ่มมีปัญหา

ในต่างประเทศก็พบปัญหาเหมือนกัน แต่เป็นอัตราส่วนน้อยกว่าไทยมาก

ปัจจุบันปัญหาที่สำคัญคือนักดำน้ำในทะเลมีมาก ทัวร์ก็ตัดราคาแข่งขันกัน ยิ่งทำให้นักท่องเที่ยวมากขึ้น ระยะหลังนอกจากทรัพยากรได้รับผลกระทบแล้ว นักดำน้ำมากก็ส่งผลกระทบถึงธุรกิจการท่องเที่ยวด้วย ททท.จึงต้องวางแผนให้รอบคอบถ้าจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ขณะที่ทรัพยากรลดน้อยลงก็ยิ่งก่อปัญหา ดร.ธรณ์ กล่าว.

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์