สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนส.ค.56 พบว่า มีจำนวนผู้ว่างงานกว่า 317,000 คน คิดเป็น 0.8% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 93,000 คน แต่ก็ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก.ย.ที่มีผู้ว่างงานถึง 355,000 คน
ส่วนใหญ่เป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน โดยมีผู้ว่างงานจากภาคการค้าและบริการมากที่สุดถึง 104,000 คน รองลงมาเป็นภาคการผลิต และภาคเกษตรกรรม ซึ่งถ้าแยกออกเป็นภาคจะพบว่า ภาคใต้มีอัตราการว่างงานมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคเหนือ กรุงเทพฯ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาระดับการศึกษาที่สำเร็จของผู้ว่างงานทั้งหมด พบว่า ระดับการศึกษาที่มีผู้ว่างงานมากที่สุด คือระดับอุดมศึกษา 144,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 53,000 คน หรือเพิ่มขึ้น 2% รองลงมาคือ มัธยมศึกษาตอนต้น 73,000 คน มัธยมศึกษาตอนปลาย 49,000คน ประถมศึกษา 39,000 คน และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 12,000 คน
ส่วนจำนวนผู้มีงานทำ พบว่า มีจำนวน 38.95 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม 16.22 ล้านคน ลดลง 240,000 คน จากช่วงเดียวกันปีก่อน และนอกภาคเกษตรกรรม 22.73 ล้านคน ลดลง 350,000 คน โดยลดลงในสาขาการก่อสร้าง 220,000 คน สาขาขายส่งและการขายปลีกการซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ 170,000 คน สาขาการผลิต 130,000 คน สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 110,000 คน และสาขาการศึกษา 90,000 คน ส่วนสาขาที่เพิ่มขึ้นคือสาขากิจกรรมด้านสุขภาพ และงานสังคมสงเคราะห์ 140,000 คน และสาขากิจกรรมทางด้านการเงินและการประกันภัย 40,000 คน ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่นๆ
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจำนวนผู้ที่ทำงานแต่ยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นผู้ทำงานแต่ยังมีเวลา และพร้อมที่จะทำงานได้อีก หรือเรียกว่า ผู้ทำงานต่ำกว่าระดับ จากผลการสำรวจ พบว่า มีผู้ที่ทำงานต่ำกว่าระดับ 359,000 คนหรือคิดเป็น 0.9% ของจำนวนผู้ทำงานทั้งหมด ซึ่งกลุ่มนี้แม้ว่าจะมีงานทำแล้วก็ตาม แต่ยังมีเวลาว่างที่มากพอและพร้อมที่จะทำงานเพิ่มขึ้น เพื่อต้องการเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง