สุรินทร์ยังแล้ง 17 อำเภอชาวบ้านเดือดร้อนหนักขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค
สถานการณ์ภัยแล้งยังคงคุมคามจังหวัดสุรินทร์ต่อเนื่องทั้งหมด 17 อำเภอ 122 ตำบล 1,524 หมู่บ้าน และพื้นที่ประสบภัยแล้งได้ขยายพื้นที่เป็นบริเวณกว้างและรุนแรงขึ้นเนื่องจากน้ำที่กักเก็บในอ่างเก็บน้ำ แม่น้ำสายหลัก ลำน้ำสาขา และแหล่งน้ำดิบต่างๆในพื้นที่มีปริมาณลดลงอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก บางพื้นที่ไม่มีน้ำเพียงพอในการผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ถึงแม้จะใกล้เข้าสู่หน้าฝนแล้วก็ตาม ทำให้ความต้องการที่จะซื้อน้ำของชาวบ้านจากพ่อค้าเร่ขายน้ำ ยังคงมีอยู่และยังสร้างรายได้ให้กับพ่อค้าเร่ขายน้ำกลุ่มนี้เป็นกอบเป็นกำอีกด้วย
นายสมหมาย ปรึกทอง พ่อค้าบรรทุกน้ำเร่ขาย อยู่บ้านเลขที่ 96 หมู่ 1 บ้านเทพรักษา ต.เทพรักษา อ.สังขะ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า
ได้ใช้เวลาว่างจากการทำไร่นา และถือวิกฤตเป็นโอกาสนำรถยนต์กระบะคู่ใจบรรทุกถังเปล่าจำนวน 11 ใบ ความจุใบละ 200 ลิตร พร้อมลูกชายออกเดินทางออกจากหมู่บ้านระยะทางกว่า 15 กิโลเมตร เพื่อไปดูดซื้อน้ำจากบ่อน้ำซับในพื้นที่อีกตำบลหนึ่ง ซึ่งเป็นบ่อน้ำผุดที่ไหลออกมาจากช่องหินใต้ดินธรรมชาติ โดยน้ำดังกล่าวไหลออกมาจากป่าเขาลำเนาไพร และไม่เคยเหือดแห้งแม้กระทั่งหน้าแล้งน้ำก็ยังคงไหลออกมาไม่หยุด ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นน้ำแร่ธรรมชาติที่มีความความสะอาดใสบริสุทธิ์ ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านคะนา หมู่ 7 ต.ตาตุม อ.สังขะ และถือได้ว่าเป็นแหล่งน้ำที่พึ่งแหล่งสุดท้ายแห่งเดียว ของชาวบ้านในหลายพื้นที่ใกล้เคียงได้ประทังชีวิตในช่วงหน้าแล้งของทุกปี โดยคิดราคา 20 บาทต่อ 200 ลิตร
นายลัย ศรีสุข ผู้ใหญ่บ้านคะนา เปิดเผยว่า บ่อแห่งนี้เป็นบ่อน้ำซับตามธรรมชาติ ตนเองเกิดมาก็เห็นเลย มีมานานมากแล้ว
เดิมเป็นบ่อร่องน้ำหินธรรมดา ปัจจุบันทาง อบต.ตาตุมฯได้เข้ามาก่อสร้างท่อครอบให้ประชาชนมาใช้บริการได้สะดวกขึ้น ซึ่งก็มีคนสนใจเดินทางมาเอาน้ำไปดื่มกินจากหลายตำบล บางคนก็มาอาบและซักผ้า โดยเฉพาะหน้าแล้งพบว่ามีประชาชนเดินทางมาเอาน้ำมากขึ้นทุกวัน ขณะที่ อบต.ต่างๆก็มาดูดเอาน้ำที่นี่เพื่อเอาไปแจกให้กับชาวบ้านตามโครงการช่วยเหลือและบรรเทาผู้ประสบภัยแล้งต่างๆ และมีการเก็บค่าบริการเฉพาะผู้ที่นำน้ำไปเร่ขายในราคา 10 บาท ต่อ 200 ลิตร ส่วนประชาชนทั่วไปก็มาเอาไปใช้ดื่มกินได้ฟรี ซึ่งในแต่ละปีสามารถเก็บค่าบริการได้ถึง 3 หมื่นบาท ซึ่งน้ำที่นี่ไหลตลอดปีตลอดชาติ