สธ.สั่งรับมือปัญหาหมอกควัน9จว.เหนือตอนบน เตือน7กลุ่มเสี่ยงเตรียมพร้อม
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงมาตรการรองรับผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาหมอกควันในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน พ.ศ.2556 ว่า ได้ให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 และ 10 เตรียมความพร้อมเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยได้ประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา และตาก เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่ ไปพร้อมๆ กันกับการแก้ไขปัญหาจากภัยหนาวอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งได้สั่งการโรงพยาบาลทุกระดับที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจัดเตรียมเครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ ยาประจำห้องฉุกเฉินต่างๆ ให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วยได้อย่างทันท่วงทีให้มีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ตลอดเวลา และให้แต่ละพื้นที่เตรียมทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว ลงพื้นที่ทันทีเมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับหมอกควัน เพื่อดำเนินการควบคุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดผลกระทบเร็วที่สุด และขอความร่วมมือรณรงค์ประชาชนในหมู่บ้านงดเผาป่า เผาหญ้า/วัชพืช หรือขยะ เพื่อลดมลพิษในอากาศ
โดยจากผลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยในโรงพยาบาล 22 แห่งในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ และพะเยา ระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2555-5 มกราคม 2556 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 17,219 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่นไข้หวัด เป็นผู้ป่วยที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวตามปกติ ยังไม่พบความผิดปกติจากปัญหาหมอกควัน
ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มลพิษจากหมอกควันที่เกิดจากการเผาป่า เผาขยะ เผาวัชพืช จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพใน 4 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ 1.กลุ่มโรคทางเดินหายใจ 2.กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด 3.กลุ่มโรคตาอักเสบ และ 4.กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ
สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าคนทั่วๆ ไป มี 7 กลุ่ม ได้แก่
1.กลุ่มเด็ก
2.หญิงตั้งครรภ์
3.ผู้สูงอายุ
4.ผู้ป่วยโรคหอบหืด
5.ผู้ป่วยโรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง
6.ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้
และ 7.ผู้ป่วยโรคหัวใจ
ผู้ป่วย 7 กลุ่มเสี่ยงควรสังเกตอาการของตนเองและสำรองยาให้เพียงพอ จำกัดเวลาในการออกกำลังกายหรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้แรง เมื่อเริ่มมีอาการให้รีบปรึกษาแพทย์ จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสูดละอองหมอกควัน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก
ที่มา มติชนออนไลน์