วันที่ 10 ต.ค. ในการเสวนาเรื่อง "2012! 18 ภัยพิบัติ ความเสี่ยงที่คนไทยต้องเจอ" นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการผู้จัดการ ทีมกรุ๊ป กล่าวว่า
การที่ประเทศไทยและประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตรได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง นักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า เกิดจากภาวะโลกร้อน เดิม10-15 ปี จะเกิดฝนมากหนึ่งครั้ง และฝนน้อยตามมา แต่ปัจจุบันวงจรสั้นลงเหลือประมาณ 4-6 ปี ทั้งนี้ ยังคาดว่า ภายในอีก 90 ปี ข้างหน้า อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้นอีก 2-4 องศาเซลเซียส ส่วนในปีนี้อุณหภูมิจะสูงถึง 46 องศาเซลเซียส และน้ำทะเลสูงขึ้นด้วย นั่นหมายความว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ชายทะเลต้องยกสูงขึ้น 60 เซนติเมตร แม่น้ำเจ้าพระยาอาจจะถูกน้ำทะเลหนุนสูงถึงจ.ปทุมธานี แม่น้ำท่าจีนอาจจะหนุนสูงถึงอ.บางเลน จ.นครปฐม ขณะที่แม่น้ำแม่กลอง อาจจะหนุนสูงขึ้นถึงอ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ทำให้การเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับผังเมืองแทบจะนำมาใช้จริงไม่ได้เลย
โดยเฉพาะเขตหนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง ของกรุงเทพฯ ควรเป็นพื้นที่สีขาวคาดเขียว เหมาะสำหรับทำเกษตรกรรม สร้างอาคารไม่เกินสามชั้น และเป็นพื้นที่ทางน้ำหลาก แต่ปัจจุบัน เส้นทางคมนาคม นิคมอุตสาหกรรม สนามกอล์ฟ หรือแม้แต่สนามบินสุวรรณภูมิ อยู่ในเส้นทางน้ำหลาก ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดความเสียหายที่รุนแรงขึ้นในอนาคต
ส่วนการปรับระบบข้อมูลและพยากรณ์นั้น การพัฒนาเทคโนโลยีที่รัฐบาลวางแผนด้วยงบประมาณ 7 พันล้านบาท
เพื่อวิจัย คาดการณ์ในอนาคต ต้องให้มีความพร้อม ซึ่งภายใน 5 ปีข้างหน้า คงมีข้อมูลสารสนเทศที่คาดการณ์ความน่าจะเป็นของพายุได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรจะมีการปรับรูปแบบการสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจเกี่ยวกับการก่อตัวของภัยพิบัติในอนาคตด้วย
นอกจากนี้ นางทวิดา กมลเวชช รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ภาครัฐต้องวางแผนโดยเอาการจำลองสถานการณ์มาปรับเป็นแผนในการรับมือ ให้ภาครัฐเป็นศูนย์กลางสะท้อนข้อมูลสู่ภาคประชาชน การทำซิงเกิ้ลคอมมานด์ต้องทำให้ครอบคลุมทั้งหมด อีกทั้งใช้สื่อ เพราะคิดว่าสื่อเป็นตัวกลางในการสื่อสารข้อมูลที่เร็วที่สุด เพื่อให้เข้าใจตรงกัน
น.ส.วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนดูแลสายงาน information technology services บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส จำกัด ได้ตั้งคำถามว่าทำไมต้องศึกษาความเสี่ยง ก็เพื่อให้เราทราบว่าแต่ละภัยเกิดขึ้นได้อย่างไร รับมืออย่างไร เพราะในต่างประเทศมีสอนเรื่องการเตือนภัย อาทิ การเตรียมความพร้อมให้บุคลากร องค์กร แต่ในประเทศไทยเพิ่งมี
ส่วนขบวนการวางแผนนั้น เรานำข้อมูลเบื้องต้นจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มาเปรียบกับต่างประเทศที่มีการวิเคราะห์ รวบรวมสถิติไว้เช่นกัน
โดยแบ่งออกเป็น 18 ภัยพิบัติเสี่ยง ซึ่งมีที่มาจาก 2 สาเหตุ คือ ภัยที่เกิดโดยธรรมชาติ อับดับหนึ่งคือ อุทกภัย เพราะบ้านเราเกิดทุกปี โดยเฉพาะปีที่แล้วที่ได้รับผลกระทบหนักมากที่สุด ต่อมาคือ ภัยจากดินโคลนถล่ม แม้จะเกิดในบางภาคพื้นที่ แต่ก็เกิดบ่อย และได้รับอันตรายมาก เช่นเดียวกับภัยที่มาจากคลื่นสึนามิ ขณะที่ภัยแผ่นดินไหวหรืออาคารถล่ม ก็เริ่มมีสถิติมาอย่างต่อเนื่อง
ภัยแล้ง ภัยหนาว ก็เริ่มเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอากาศเริ่มเปลี่ยน ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ไม่แพ้ภัยที่เกิดจากไฟป่าและโรคระบาด (ไข้หวัดนก) ภัยโรคแมลง ก็เป็นจุดหนึ่งที่ต้องระวัง เนื่องจากกระทบกับมนุษย์
ภัยที่เกิดจากมนุษย์ อันแรกคือภัยจากสารเคมี วัตถุอันตราย เพราะเมื่อเกิดการรั่วไหลแล้วต้องยอมรับว่ากระทบกว้าง ไม่ต่างจากภัยจากสารสนเทศ ที่อัตรายเหมือนกัน เนื่องจากจับต้องไม่ได้ เกิดความเสียหายโดยไม่รู้ตัว ซึ่งหมายรวมถึงการขโมยรหัสผ่านก็เป็นภัยอย่างหนึ่ง มากกว่านั้นคือภัยที่เกิดจากภัยคมนาคม อุบัติเหตุ ภัยที่เกิดจากน้ำมันที่เกิดขึ้นที่ต่างประเทศ ภัยที่เกิดจากการกระจายรังสี นิวเครีย์ ซึ่งรุนแรงมากในญี่ปุ่น หรือภัยที่เกิดจากการก่อจลาจล ที่บ้านเราเกิดแล้วในช่วงการชุมนุมที่ผ่านมา
ทั้งหมดที่เกิดขึ้น หากมีการเตรียมความพร้อม มีการเตรียมแผนฉุกเฉิน ซึ่งมีรายละเอียดในการเตือนหลายรูปแบบ
เช่น บางแห่งมีหลายเชื้อชาติจะต้องทำอย่างไร ส่งแล้วจะส่งแบบไหน หากใครต้องการความช่วยเหลือ ต้องการรายละเอียด โดยเฉพาะการเกิดสึนามิที่ญี่ปุ่น ที่ต้องใช้หลายสื่อ รวมถึงการปรับใช้สื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ก็จะทำให้รับมือได้ง่าย
ประเทศที่พร้อมเรื่องน้ำยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ เนื่องจากผ่านน้ำท่วมมาเยอะมาก มีการพัฒนาในการรับมือดีขึ้นเรื่อยๆ อีกกรณีหนึ่งก็คือ ประเทศอินโดนิเซีย ที่มักจะเกิดภูเขาไฟระเบิด คนไม่ยอมย้าย เขาเริ่มมีเทคนิคใหม่ นั่นก็คือการใช้ละครวิทยุ เพื่อซึมซับความตระหนัก และเข้าถึงประชาชน
นายมนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปภ. กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญต้องอยู่ที่ประชาชนที่ควรรู้หน้าที่ของตัวเองในการปกป้องและช่วยเหลือเบื้องต้น รวมถึงการช่วยเหลือชุมชนข้างเคียง รู้วิธีเอาตัวรอด ขณะที่ปัจจุบันที่มีการพูดถึงภัยพิบัตินั้น เราต้องรู้คู่ต่อสู้เพื่อเตรียมทรัพยากรหรือการปรับตัวในการต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลง รัฐบาลเองได้กำหนดเป็นนโยบายในการทำงานแบบบูรณาการเพื่อลดความเสี่ยง แต่ช่วงที่ผ่านมาการเตรียมความพร้อมยังขาดในเรื่องการสังเกตุการณ์ แทนที่จะนำเงินที่มาจ่ายความสูญเสียอย่างเดียว