เมื่อวันที่ 28 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องและเป็นช่วงๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ตั้งแต่คืนวันที่ 27 กันยายนต่อเนื่องจนถึงวันที่ 28 กันยายน ส่งผลทำให้ สภาพของถนนหลายสายในกรุงเทพฯ มีน้ำท่วมขัง ท่อระบายน้ำหลายแห่งไม่สามารถระบายได้ทัน อาทิ ถนนลาดพร้าว ถนนวิภาวดีรังสิต ที่สภาพการจราจรทั้งขาเข้าขาออกมีน้ำขังหลายจุด รวมถึงถนนช่วงบริเวณหน้าสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส บริเวณสวนจตุจักร หรือหมอชิตเก่า ที่มีผู้คนใช้บริการรถไฟฟ้าอย่างแน่นหนา รวมทั้งเป็นจุดต่อรถเดินทางของรถเมล์และรถตู้บริการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. โดยผู้ใช้ยวดยานพาหนะต่างระมัดระวังในการขับขี่ ประกอบกับวันที่ 28 กันยายน เป็นวันศุกร์สุดท้ายของเดือน ตรงช่วงวันสอบของนักเรียนหลายโรงในพื้นที่กรุงเทพฯ อีกทั้งยังเป็นวันสุดท้ายของข้าราชการเกษียณที่ต่างนัดเลี้ยงตามสถานที่ร้านอาหาร และสถานที่ต่างๆ รวมถึงเป็นวันที่เงินเดือนของบริษัท ห้างร้านเอกชนออก ทำให้การจราจรหลายแห่งติดไปทั่ว โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรปฏิบัติหน้าที่ในการเร่งระบายรถ
กรณีนายสมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาวัดปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งเดือนกันยายนได้ 340.7 มิลลิเมตร (มม.)
ไม่ตรงกับข้อมูลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ระบุปริมาณฝนสะสมเดือนกันยายน 721 มิลลิเมตร โดยสถิติของกรมอุตุฯมีฐานข้อมูลเปรียบเทียบปริมาณฝน 30 ปี และ 50 ปี ปีที่ฝนตกมากที่สุดเดือนกันยายนในกรุงเทพฯ คือ ปี 2515 วัดได้ 676.3 มม. และไม่มีฐานข้อมูล 100 ปี นั้น
เมื่อเวลา 11.30 น. นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. เปิดเผยว่า
เหตุที่ข้อมูลปริมาณน้ำฝนของ กทม.และกรมอุตุฯไม่ตรงกันนั้น เนื่องจากมีจุดวัดน้ำฝนคนละแห่ง ระบบและเกณฑ์การวัดอาจแตกต่างกัน และได้พูดคุยทำความเข้าใจกับนายสมชายแล้วด้วย ทาง กทม.มีศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม ที่ศาลาว่าการ กทม.2 (ดินแดง) เป็นระบบเก็บข้อมูลสถานการณ์น้ำพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมรายงานเหตุการณ์ได้เป็นปัจจุบัน (เรียลไทม์) ล่าสุด ปริมาณน้ำฝนสะสมในเดือนกันยายน วัดได้สูงถึง 825.5 มิลลิเมตร และในวันนี้ (28 ก.ย.) ก็พบกลุ่มฝนกระจายปกคุลมพื้นที่กรุงเทพฯ คาดว่าจะมีฝนตกตลอดทั้งวัน
ฝนถล่มศุกร์สิ้นเดือน หนึบทั้งกรุง วิภาวดี-หมอชิตจม แจ๊ดคุยท่อเริ่มโล่ง
นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษก กทม.กล่าวกรณีกรมราชทัณฑ์ส่งนักโทษเข้าลอกท่อระบายน้ำในเขตมีนบุรี
และพบถุงทรายในท่อระบายน้ำกว่า 100 ลูก ว่า ขอให้ประสานมายัง กทม. ระบุให้ทราบด้วยว่าพบถุงทรายที่จุดใดจะได้แก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งสำนักงานเขตมีนบุรีก็ยังไม่ทราบเรื่อง หากพบจริงควรแจ้งไปยังสำนักงานเขตท้องที่ให้รับทราบ ซึ่งในปี 2554 ที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ถนนในพื้นที่เขตมีนบุรีเกิดน้ำท่วม 2 สาย คือ ถนนสุวินทวงศ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างสะพานยกระดับของกรมทางหลวง และอีกสายคือ ถนนราษฎร์อุทิศ-ถนนเลียบวารี อยู่ระหว่างปรับปรุงขยายช่องจราจรจาก 2 ช่อง เป็น 4 ช่อง ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งถนนดังกล่าวมักมีประชาชนร้องเรียนเกี่ยวกับท่อระบายน้ำ
นายวสันต์กล่าวต่อว่า กทม.ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มีถุงทรายอยู่ในท่อ เพียงแค่อยากให้ประสานมาว่าตรงจุดใด เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขร่วมกัน ส่วนบริเวณหน้าหมอชิตเก่า ถนนพหลโยธิน ไม่ใช่ถนนของ กทม. และจุดนั้นไม่ได้เกิดน้ำท่วม ที่พูดเพราะต้องการขอความเป็นธรรมให้เจ้าหน้าที่ กทม. ทำงานกันทั้งวันทั้งคืน ไม่ได้หลับได้นอน แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์การทำงานอีก อย่างเมื่อคืนเกิดน้ำท่วมขังสูงมากที่สามเหลี่ยมดินแดง ก็ต้องเร่งระบายน้ำให้แห้งก่อนถึงตอนเช้า หากมีอะไรก็ควรร่วมมือกันดีกว่าจะมาคอยนั่งจับผิดกัน
ศูนย์ข้อมูลระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ กทม. รายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา หรือระหว่างวันที่ 27-28 ก.ย. ว่า
พบปริมาณฝนตกลงมาสูงสุดวัดได้ที่สถานีสูบน้ำคลองแสนแสบ เขตหนอกจอก 147.0 มม. ขณะเดียวกัน ความสูงของระดับน้ำในคลองต่างๆ หลายแห่งเริ่มอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังเป็นพิเศษ อาทิ คลองสอง (สายไหม) วัดสูงสุดที่ 1.54 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก) (ระดับตลิ่ง 1.80 ม.รทก.), คลองแสนแสบ (มีนบุรี) สูงสุด 1.08 ม.รทก. (ระดับตลิ่ง 1.20 ม.รทก.), คลองประเวศบุรีรมย์ (ลาดกระบัง) สูงสุด 0.55 ม.รทก.(ระดับตลิ่ง 0.65 ม.รทก.), คลองมหาสวัสดิ์ (ทวีวัฒนา) สูงสุด 1.16 ม.รทก. (ระดับตลิ่ง 1.30 ม.รทก.)
ขณะที่ข้อมูลจากระบบตรวจวัดระดับน้ำแนวคันกั้นน้ำ (ภายนอก/ภายใน) อัตโนมัติรายงานว่า
คลองสอง 1.75/0.93 ม. (ค่าวิกฤต 1.80/0.80 ม.), คลองสามวา 1.38/0.72 ม. (ค่าวิกฤต 1.20 ม.), คลองแสนแสบ ช่วงมีนบุรี 1.18/0.61 ม.(ค่าวิกฤต 1.20 ม.), คลองแสนแสบ ช่วงบางชัน 0.63/0.40 ม.(ค่าวิกฤต 0.80 ม.), คลองประเวศฯ ช่วงลาดกระบัง 0.67/0.50 ม.(ค่าวิกฤต 0.65 ม.)
ด้านระดับน้ำคลองสายหลักฝั่งพระนคร ที่คลองลาดพร้าว วัดได้ 0.59/0.54 ม.(ค่าวิกฤต 0.40 ม.) ฝั่งธนบุรี คลองมหาสวัสดิ์ ศาลายา 1.21 ม.(ค่าวิกฤต 1.30 ม.), คลองทวีวัฒนา 0.91 ม.(ค่าวิกฤต 1.00 ม.), คลองพระยาราชมนตรี-ภาษีเจริญ 0.75 ม.(ค่าวิกฤต 0.60 ม.), คลองทวีวัฒนา-ภาษีเจริญ 0.83 ม.(เกินค่าวิกฤต 0.60 ม.),คลองทวีวัฒนา-วัดศาลาแดง 0.96 ม. (เกินค่าวิกฤต 0.80 ม.)
ทั้งนี้ ค่าวิกฤตคือ ค่าระดับของตลิ่ง หมายความว่า หากระดับน้ำสูงเกินค่าวิกฤตพื้นที่แถบนั้นอาจมีปัญหาน้ำท่วมได้
นอกจากนี้ ปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สะพานพระราม 8 วัดได้สูงสุดที่ 2,650 ลบ.ม.วินาที เริ่มเข้าใกล้ 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ที่ กทม.ระบุว่า เป็นระดับอันตราย อาจส่งผลกระทบทำให้เกิด น้ำท่วม โดยเฉพาะริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. พร้อมตัวแทน กทม. และเจ้าหน้าที่จากกรมราชทัณฑ์ ร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายหลังฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา
พล.ต.ท.คำรณวิทย์เผยภายหลังประชุมว่า จากการระดมกลุ่มผู้ต้องขังช่วยลอกท่อในเขตพื้นที่น้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ
ปรากฏว่าการระบายน้ำทำได้เร็วขึ้น แต่เดิมใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง ถึงจะระบายน้ำขังได้ ขณะนี้ใช้เวลาแค่ 1 ชั่วโมง มีการประเมินผลการทำงานเป็นรูปธรรม ทุกฝ่ายทำงานได้ดี ส่วนที่มีน้ำท่วมขังอยู่นั้น ทางตำรวจได้นำเครื่องสูบน้ำไปประจำการไว้ ยืนยันว่าทำทุกจุดที่ได้รับการรับแจ้งจากประชาชน อย่างไรก็ตาม การเร่งช่วยเหลือประชาชน ไม่ใช่ข้ออ้างเพื่อของบประมาณเพิ่ม จะทำตามงบประมาณที่มีอยู่เท่านั้น
"เมื่อวานนี้ (27 ก.ย.) ไปพบก้อนหินขนาดใหญ่ในท่อระบายน้ำขณะลอกท่อนั้น (บริเวณบีทีเอส ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร) ไม่ใช่ความผิดของ กทม. น่าเป็นความสะเพร่าของผู้รับเหมาที่ไปทุบไปเจาะแล้วมักง่ายเอาก้อนหินทิ้งไว้ในท่อ เรื่องนี้ไม่โทษการทำงานของ กทม." ผบช.น.กล่าว