นักวิชาการคณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ เตือน กทม.ระวังน้ำท่วมจากพายุ ช่วง ต.ค.- พ.ย. หวั่นอากาศแปรปรวนซ้ำรอยน้ำท่วม กทม.ปี 33 , ปี 39 และปี 49 เหตุพายุเข้าปลายฤดู 2-3 ลูก แนะเร่งพร่องน้ำในคลองให้แห้งรับมือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 55 หน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จัดเสวนา “วิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตน้ำในประเทศไทย ปี 2555” เพื่อเผยแพร่ข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งกรุงเทพมหานครและรัฐบาลให้เตรียมพร้อมรับมือ และปรับเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ เตรียมพร้อมหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม
นายธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เปิดเผยว่า ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในปี 2555 ทำให้เกิดความผิดปกติของทิศทางลมพายุ จนอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากมีพายุที่เกิดจากทะเลจีนใต้เคลื่อนตัวเข้ามา ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.ของปีนี้ โดยจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ตอนบนบริเวณจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นผลมาจากร่องฝนที่พาดผ่านประเทศไทยตั้งแต่ต้นปีนั้นแช่อยู่นานผิดปกติ ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ยังไม่มีพายุลูกใดสามารถเคลื่อนตัวเข้ามายังประเทศไทยได้ เพราะร่องฝนเป็นตัวปิดพื้นที่ไม่ให้ลมพายุเคลื่อนตัวเข้ามา
"ปกติร่องฝนที่พาดผ่านประเทศไทยจะใช้เวลาพาดผ่านไม่นาน ประมาณ 4 วัน - 1 สัปดาห์ เป็นอย่างมาก แต่ในปีนี้ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ค.มีร่องฝนพาดผ่านเข้ามาในประเทศไทยและแช่อยู่นานผิดปกติ ทำให้เส้นทางของพายุที่จะเข้ามาตามฤดูกาลไม่สามารถเคลื่อนตัวเข้ามาในประเทศไทยได้ ขณะที่ร่องฝนที่พาดผ่านประเทศไทยและทำให้เกิดน้ำท่วมที่ จ.สุโขทัย และฝนตกหนักในกรุงเทพมหานครก็เป็นผลจากการแช่ตัวอยู่นานเช่นเดียวกัน ซึ่งคาดว่าร่องฝนกลุ่มนี้จะเคลื่อนตัวลงใต้ประมาณปลายเดือน ก.ย. "
นายธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า หากลักษณะอากาศเป็นไปในรูปแบบนี้ มีแนวโน้มว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเหมือน ปี 2533 และ ปี 2539
ที่มีพายุเข้ามา 3 ลูก และปี 2549 มีพายุเข้ามาภาคกลาง 2 ลูก ในช่วงเดือน ต.ค.และ พ.ย.หรือช่วงปลายฤดู ซึ่งพายุที่เข้ามาในช่วงนี้จะไม่ขยับตัวขึ้นไปทางเหนือแต่จะส่งผลให้เกิดฝนตกบริเวณท้ายเขื่อน จึงอาจส่งผลต่อการบริหารจัดการน้ำท้ายเขื่อนได้ ทั้งนี้จุดที่น่ากังวลก็คือหากจุดศูนย์กลางการเกิดพายุในทะเลจีนใต้ แนวโน้มที่พายุจะเคลื่อนตัวเข้ามายังประเทศไทยก็จะมากขึ้น เพราะเกิดจากปัจจัยในช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดเข้ามาจะทำให้อากาศเย็นลง ทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเล ทิศทางลม และความชื่นในอากาศเหมาะแก่การเกิดพายุ
“ปัจจุบันจะเห็นว่าร่องฝนนั้นแปลกๆ ซึ่งตามปกติจะพาดผ่านประเทศไทยไม่เกิน 1 อาทิตย์ แต่ร่องฝนก่อนหน้านี้ประมาณเดือน มิ.ย. - ก.ค.นั้น พาดผ่านประเทศไทยและแช่อยู่นานทำให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งในเดือนหน้าร่องฝนจะขยับตัวลงมาเพราะมวลอากาศเย็นจะผลักลงมาทางใต้ พอร่องฝนขยับตัวลงมาพายุต่างๆ ที่ก่อตัวขึ้นจะเข้ามายังประเทศไทย จึงมีโอกาสสูงมากที่พายุจะเคลื่อนตัวเข้ามาในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย. โดยเฉพาะพายุที่มีจุดก่อกำเนิดในทะเลจีนใต้” นายธนวัฒน์ กล่าว
นายธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า กรุงเทพมหานครต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. - 2 ต.ค. โดยเฉพาะในวันที่ 30 ก.ย. จะเกิดฝนตกหนัก
จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามมองว่ากรุงเทพมหานครจะรองรับฝนที่จะตกหนักอย่างไร เพราะขณะนี้กรุงเทพมหานครมีปัญหาเรื่องน้ำในคลองส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทำการพร่องออกไป ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาพบว่ากรุงเทพมหานครรอดจากน้ำท่วมได้เพราะการใช้ระบบปิดล้อม และระบบคลองมีการพร่องน้ำไว้ก่อน
“ขณะนี้กรุงเทพมหานครกับรัฐบาลยังทะเลาะกันไม่เลิก เรื่องการโรยน้ำผ่านคลองต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะคลองส่วนใหญ่ประสบปัญหาทรุดประสิทธิภาพการรับน้ำจึงไม่เท่ากันถ้าหากปล่อยน้ำเข้ามามากมันจะไปตามท่อ และถ้าน้ำไม่ได้พร่องก็จะดูดน้ำจากท่อระบายน้ำต่างๆ ลงสู่คลองไม่ได้ และโดยเฉพาะปีที่แล้วมีการนำทรายมาทำคันกั้นน้ำจึงไปอุดตันยังท่อระบายน้ำจำนวนมาก ผ่านมา 1 ปี คิดว่ายังลอกท่อไม่หมดทุกพื้นที่” นายธนวัฒน์ กล่าว
ดังนั้นทางที่ดีที่สุดและช่วยให้ในอดีตกรุงเทพมหานครรอดจากน้ำท่วม คือการพร่องน้ำในคลองให้เกือบแห้ง
เพราะหากเกิดฝนตกหนักจะได้ดึงน้ำจากท่อระบายลงมาสู่คลองได้ เพราะทุกวันนี้จะเห็นว่าฝนตกไม่หนักมากแต่น้ำในก็ยังท่วม ทั้งๆ ที่กรุงเทพมหานครมีระบบอุโมงค์ยักษ์ แต่ปัญหาคือไม่ได้ทำการพร่องน้ำ และไม่มีการสูบน้ำเป็นช่วงๆ เหมือนในอดีต และปัจจัยที่จะทำให้น้ำท่วมในช่วงนี้ไม่ใช้น้ำเหนือแต่เป็นเรื่องของน้ำฝนจากพายุ