คณะทำงาน กยน.ประเมิน 7-10 วันมวลน้ำเหนือเคลื่อนจ่อรอบกรุง หวั่นฝนหนักช่วง14-17ก.ย.ก่อปัญหา ย้ำกรมชลฯต้องเร่งระบายลงทะเล
นายสุจริต คูณธนกุลวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะ คณะทำงานอนุกรรมการระยะเร่งด่วน ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กล่าวว่า ขณะนี้มวลน้ำจากสุโขทัยเริ่มทยอยไหลเข้าที่อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก จากนั้นจะเข้าจ.นครสวรรค์ตามลำดับ
ทั้งนี้ที่จ.ชัยนาท ต้องเร่งพร่องน้ำเพื่อรับมวลน้ำก้อนนี้ที่อาจมาถึงในช่วง 5 วัน
โดยระหว่างการไหลของน้ำพื้นที่ที่เป็นลุ่มต่ำจะได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งกรมชลประทานคงจะบริหารให้มวลน้ำชะลอความรุนแรง เพื่อลดผลกระทบไม่ให้เกิดเหตุเช่นเดียวกับที่จ.สุโขทัย
ส่วนระยะเวลาที่มวลน้ำจะเดินทางมาถึงพื้นที่รอบ กทม.นั้น อาจใช้เวลาเดินทางภายใน 7-10 วัน
แต่หากปริมาณน้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนมีจำนวนมากคาดว่าจะใช้เวลาเร็วกว่าเดิม
"ปริมาณน้ำที่จะไหลลงมาเมื่อรวมกับปริมาณน้ำฝนที่จะตกหนักตามพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาช่วงวันที่ 14-17 ก.ย.นี้ ก็คาดว่าจะมีปัญหาอย่างแน่นอน จึงเป็นหน้าที่ของกรมชลประทานที่ต้องเร่งระบายน้ำลงทะเลให้เร็วที่สุด"นายสุจริตกล่าว
นายสุจริตกล่าวอีกว่า คาดว่าปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาน่าจะอยู่ที่ 60-80 มิลลิเมตร
ซึ่งในกรุงเทพฯ หน่วยงานอย่างกทม.จะต้องดูแล ซึ่งปัจจุบันมวลน้ำจากด้านนอกยังไม่เข้ามารบกวนพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ ถ้าช่วงดังกล่าวมีปริมาณฝนเกิน 60 มิลลิเมตร ในบางพื้นที่การระบายน้ำอาจจะทำได้ช้าลง แต่ระบบการระบายน้ำก็มีการเสริมเครื่องผลักดันน้ำเข้าไป อย่างไรก็ตามอยากเสนอให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) เตรียมระบบการแจ้งเตือนน้ำท่วมให้เร็วขึ้นกว่าเดิม โดยมีหน่วยเฉพาะกิจลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนทันที เพราะหลังจากนี้จะเริ่มมีน้ำท่วมเป็นจุดๆ และเป็นบางช่วงๆ โดยเฉพาะพื้นที่ติดแม่น้ำ