วันที่ 29 สิงหาคม ในการสัมมนา หัวข้อ "แฉน้ำท่วมปี 54 ผิดพลาดหรือตั้งใจ" ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
จัดโดยสถาบันนโยบายการศึกษา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สมาคมพัฒนาประชากร และสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และหนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กล่าวว่า ในการประชุมกนย. ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2555 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่อยู่ และมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี ทำหน้าที่เป็นประธานแทน ตนได้ถามในที่ประชุมว่า ณ เวลานี้ รัฐบาลทำอะไรบ้าง ขณะเดียวกันก็มีประชาชนถามมามากมาย แต่รัฐบาลไม่เคยให้คำตอบที่ชัดเจน เมื่อมีสื่อมวลชนหรือใครมาถามผมว่ากยน. ทำอะไรกันบ้าง ตนในฐานะกรรมการคนหนึ่ง ก็ต้องตอบ เพราะตนรู้ว่าขณะนี้กยน. ทำอะไร และมีปัญหาอะไรอยู่ จะบอกว่าตนไม่รู้ก็ไม่ได้ เพราะมีการศึกษาข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนการที่คนในรัฐบาลมาบอกว่า ในที่ประชุมไม่พูด แต่มาพูดนอกห้อง เพราะต้องการเล่นการเมืองนั้น จะพูดแบบนี้ไม่ได้ เพราะตนไม่ใช่นักการเมือง มากกว่านั้น ในที่ประชุมตนก็พูดมาตลอด พูดความจริง แต่ไม่มีใครฟัง
"เขาเป็นเสนาบดี ผมเป็นแค่ภาคประชาชน แต่ภาคประชาชนจะไม่มีสิทธิจะพูดอะไรเลยหรือ สิ่งที่พูดก็เป็นข้อมูลที่ผมรู้ และเป็นความจริงทั้งสิ้น เท่าที่มีการศึกษาข้อมูลมา" นายปราโมทย์ กล่าว
นอกจากนี้ นายปราโมทย์ ยังกล่าวอีกว่า เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปีพ.ศ.2554 ถือเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน มีมรสุมพัดผ่านภาคเหนือ เกิดพายุหลายลูกและทำให้ฝนตกหนัก อีกทั้ง ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ ซึ่งปีที่ผ่านมารัฐบาลไม่รู้ หรืออย่างที่บอกคือ บางอย่างรัฐบาลไม่เข้าใจ แต่มองว่าเป็นวิกฤตการณ์ธรรมชาติ ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นความผิดพลาดหรือตั้งใจ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน การสื่อสารกับประชาชน การให้ข้อมูลมีความจำเป็น
เพราะการรับมือน้ำท่วมเสมือนเป็นการทำสงครามกับน้ำ แต่ที่ผ่านมาไม่มีแม่ทัพ หรือคนที่เป็นหัวหน้าในการแก้ปัญหา น้ำที่ไหลไปยังที่ต่างๆ เกิดปัญหา เกิดความวุ่นวาย ส่วนเรื่องการเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย หรือ ทีโออาร์ นั้น รัฐบาลอย่าสนใจเรื่องเงินอย่างเดียว ควรใจเย็นหรือมีการหารือให้ชัดเจน มีสติ แต่เท่าที่อ่าน ทีโออาร์ มองว่า แผนดังกล่าวไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้