ผลการวิจัยเตือนว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาทิ แผ่นดินไหว น้ำท่วม พายุ และอื่นๆมากที่สุด
รายงานเรื่อง "แผนที่ความเสี่ยงภัยธรรมชาติ" (Nature Hazards Risk Atlas) ของเมเปิลครอฟท์ บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงของอังกฤษ ได้ประเมินผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีต่อเศรษฐกิจของ 197 ประเทศ โดยคำนึงถึงความพร้อมในการรับมือและความสามารถของสังคมในการฟื้นตัว หากโครงสร้างพื้นฐานประเทศอ่อนแอและรัฐบาลไม่แข็งแรง ผลกระทบจากทางเศรษฐกิจจะยิ่งรุนแรง
ผลการประเมินพบว่ามี 10 ประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุด โดยเป็นประเทศในเอเชียถึง 6 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ พม่า สาธารณรัฐโดมินิกัน อินเดีย เวียดนาม ฮอนดูรัส ลาว เฮติ และนิการากัว
เมเปิลครอฟท์ระบุในรายงานว่า บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ พม่า อินเดีย และเวียดนาม
ถือเป็นประเทศที่ผลผลิตทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากหายนะทางธรรมชาติมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ขาดความสามารถในการฟื้นฟูหลังภัยธรรมชาติ อันส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านสังคม ความมั่นคงทางอาหาร การคอร์รัปชัน และหลักบังคับแห่งกฎหมาย และอาจนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองได้
นอกจากนั้น เมเปิลครอฟท์ยังชี้ว่า ญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน ไต้หวัน และเม็กซิโก
ถือเป็นประเทศที่เศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมดได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ โดยความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากภัยธรรมชาติ ที่มีการประเมินไว้จากบริษัทประกันภัย Munich Re เมื่อปี 2011 มีมูลค่าทั้งสิ้น 3.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น มีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 55 ของยอดดังกล่าว
รายงานเตือนว่า เศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียมีอิทธิพลต่อโลกมากขึ้น
ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้จึงจะมีผลกระทบต่อโลกในวงกว้างและรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น จึงต้องเสริมสร้างศักยภาพเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพราะภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หากไม่สามารถทำได้จะเป็นอันตรายต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ