เมื่อ 12 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ควันไฟป่าจากเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียที่มีการพบจุดไฟไหม้เพิ่มขึ้นจากวันที่ 11.ส.ค. ที่พบ 88 จุด เป็น 239 จุด รวมทั้งหมอกควันจากไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็ง ใน จ.นครศรีธรรมราช และป่าพรุในพื้นที่ จ.พัทลุง และการเผาหญ้าในพื้นที่ จ.สงขลา ทำให้ จ.ตรัง และจ.สงขลา มีท้องฟ้าหลัวเกือบตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะบนภูเขาที่มีหมอกปกคลุม ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ถนน ประชาชนจำนวนมากเริ่มมีอาการคอแห้ง ไอ จาม จากการสูดดมควันไฟ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ ขณะที่สภาพอากาศร้อนอบอ้าวเนื่องจากไม่มีฝนตกนานกว่าครึ่งเดือนแล้ว บางพื้นอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส
นายวันไชย ศักดิ์อุดมชัย ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ระบุว่าสภาพหมอกควันที่ปกคลุมในพื้นที่ จ.สงขลาและอีกหลายจังหวัดของภาคใต้ตอนล่างซึ่งหนาแน่นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาเนื่องจากขณะนี้อากาศนิ่งไม่มีลมและแห้งแล้งจึงทำให้กลุ่มควันขังตัวอยู่ในพื้นที่ซึ่งต้องรอให้ลมพัดลงสู่ทะเลหรือฝนตกลงมา และควรเลี่ยงการเผาในที่โล่งเพื่อไม่ให้ปริมาณฝุ่นละอองเพิ่มขึ้น
ด้านน.ส.จงจิตร์ นิรนาทเมธีกุล ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 สงขลากล่าวว่า ปริมาณหมอกควันที่ปกคลุมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างและจ.สงขลา มาจาก 2 แห่ง หมอกควันข้ามแดนและการเผาตอซังข้าว มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เฉลี่ย 24ชั่วโมงอยู่ที่ 100 แต่ยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานซึ่งอยู่ที่120 ลูกบาตรก์เมตร ขณะที่คุณภาพอากาศโดยรวมในภาคใต้ตอนล่างทั้งสงขลา ยะลา นราธิวาส และสตูล ยังอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่อาจมีผลต่อผู้มีสุขภาพอ่อนแอเด็กและคนชรา ที่เป็นโรคหอบหืดโรคหัวใจควรเลี่ยงทำกิจกรรมในที่โล่งและงดรองรับน้ำฝนไว้ใช้ชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ปริมาณหมอกควันที่ปกคลุมในพื้นที่ จ.สงขลา ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการบินโดยที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ยังคงสามารถขึ้นลงไปตามปกติทุกเที่ยวบิน
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวจากนครศรีธรรมราชรายงานสถานการณ์ไฟป่าพรุควนเคร็งในป่าสงวนแห่งชาติป่ากุมแป ป่าท่าช้างข้าม ป่าดอนทราย ป่ากลอง ใน 5 อำเภอของนครศรีธรรมราชว่า ยังอยู่ในสภาพวิกฤต เนื่องจากแนวไฟลุกลามอย่างต่อเนื่อง โดยจะลดความรุนแรงลงในช่วงค่ำจนถึงเช้า และช่วงสายจนถึงเย็นไฟจะรุนแรงจนเจ้าหน้าที่ต้องล่าถอยออกมา
นายวิทยา แก้วภราดัย สส.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้ ตนจะหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและจะให้เขาชี้แจงในช่วงการพิจารณารายจ่ายประจำปี ป่าเหล่านี้จะต้องฟื้นฟู พรุควนเคร็งใหญ่พอๆ กับพรุโต๊ะแดง แต่ขณะนี้เหลือ 1 ใน 3 ของพื้นที่จริงแล้ว เนื่องจากมีผู้บุกรุกเข้าไปยึดครองพื้นที่ทั้งถูกต้องและไม่ถูกต้อง เข้าใจว่าราว 1 แสนไร่ ซึ่งต้องใช้มาตรการปราบปรามอย่างจริงจังทันที และในพื้นที่ป่าพรุพื้นที่ไหนไฟสงบแล้วมีผู้เข้าครอบครอง หากส่วนราชการไม่เข้าดำเนินการจะถือว่าส่วนราชการมีส่วนได้เสีย ส่งเสริมให้มีการบุกรุก
ด้านนายจีระศักดิ์ ชูความดี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 ยืนยันว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างหนักในส่วนของการตรวจพบการบุกรุกเจ้าหน้าที่จะดำเนินการทันที โดยใช้เวลาภายใน 90 วันหลังตรวจพบ