วันนี้ ( 12 ก.ค. ) ที่สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ(สบอช.) ภายในทำเนียบรัฐบาล
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโยี่ ฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) แถลงภายหลังการประชุมการติดตามผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ว่า ขอให้ประชาชนได้รับทราบว่าน่าจะสบายใจได้ว่าน้ำไม่ท่วมหรือไม่ควรจะท่วมเลย เพราะจากมีตัวเลขเมื่อวันที่ 9 ก.ค.55 ที่เทียบกับวันเดียวกันในปี 54 พบว่าตอนนี้เพิ่งมีพายุ 2 ลูก และไม่ได้เข้าประเทศไทย อีกทั้งสถานการณ์ฝนปีนี้น้อยกว่า78 มิลลิเมตร หรือร้อยละ 11 รวมถึงพฤติกรรมของฝนทางฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกน้อยกว่า จึงส่งผลน้อยต่อภาคกลาง เช่น กทม.ชลบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนต่ำกว่าปีที่แล้ว ทำให้เขื่อนเต็มช้าและน้ำที่ระบายออกจากเขื่อนมากกว่าปีที่แล้ว ขณะที่การไหลของน้ำเข้ากทม.ที่แม่น้ำเจ้าพระยา ค่ายจิระประวัติ จ.นครสวรรค์ และเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนพระรามหก น้อยกว่าปีที่แล้ว
นายปลอดประสพ ยังกล่าวถึงผลประชุมในส่วนของความคืบหน้าของพื้นที่น้ำนองและเกณฑ์เยียวยา ว่า
พื้นที่ใดก็ตามที่ท่วมโดยธรรมชาติ ไม่ว่านอกหรือในพื้นที่ชลประทาน จะได้รับการเยียวยาในเกณฑ์เดิม แต่ถ้าเป็นการท่วมที่เกิดจากการบริหารจัดการของรัฐในการทำให้เป็นพื้นที่รับน้ำ รัฐบาลจะเพิ่มเงินเยียวยาให้ในอัตราพิเศษ โดยมอบให้กระทรวงมหาดไทยและกรมชลประทาน ไปดูแลและจัดทำรายละเอียดแล้วนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในเร็วๆนี้
ส่วนความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์และเขื่อนแก่งเสือเต้น นายปลอดประสพ กล่าวว่า
ในที่ประชุมระบุว่ามีพื้นที่แม่น้ำ 2 สาย ซึ่งเรายังควบคุมไม่ได้จนถึงทุกวันนี้ คือ แม่น้ำสะแกกรัง ที่เราจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ กับลุ่มน้ำยมที่จะมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ทำให้น้ำท่วมเมื่อปี 54 ซึ่งคนที่คัดค้านโครงการเหล่านี้เป็นคนนอกพื้นที่ที่มักเข้ายุ่งทุกเรื่อง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเขื่อนแม่วงก์ ได้มีการทำการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพ(เอชไอเอ) และการทำประชาพิจารณ์แล้ว ส่วนเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้มีการพูดคุยกับชาวบ้านหลายรอบ ดูจะไม่มีปัญหาอะไร