กรุงเทพฯ 30 มิ.ย.- "สมิทธ" ชี้ต้องติดตามดูพายุเข้าประเทศไทยในช่วง 2-3 เดือนนับจากนี้
หากมีพายุเข้าไทยโดยตรงอาจเสี่ยงน้ำท่วม แต่ยังห่วงภัยแล้งหนักหากฝนไม่ตก และเขื่อนยังพร่องน้ำไว้จนเหลือไม่เพียงพอ ยืนยันเตือนภัยอีกไม่เกิน 10 ปีน้ำท่วมกรุง หากไม่ทำเขื่อนปิดปากแม่น้ำ ด้าน สพฐ.เดินหน้าจับมือญี่ปุ่นจัดการเรียนการสอนภัยพิบัติให้นักเรียนป้องกันรู้พาครอบครัวหลบภัย
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ
เรื่อง การจัดการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมเผชิญสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากไทยและญี่ปุ่นนำเสนอแนวปฏิบัติเพื่อให้ศึกษานิเทศก์และผู้บริหารโรงเรียนจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนทั่วประเทศ
นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวถึงแนวโน้มการเกิดภัยพิบัติในประเทศไทย ว่า
ในปีนี้ยังคงต้องติดตามสถานการณ์พายุที่จะเข้าประเทศไทยจนถึงช่วงเดือนกันยายน จึงจะชี้ได้ว่าจะมีน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยหรือไม่ หากมีพายุเข้ามาโดยตรงหรือมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้นำฝนเข้ามาตอนบนหรือตอนกลางของประเทศไทย แล้วมีปริมาณน้ำมากเกินกว่าจะบริหารจัดการได้ ก็จะมีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันยังถือว่าเป็นปกติ ฝนยังไม่มากนัก และมีการพร่องน้ำเตรียมรองรับแล้ว
นายสมิทธ กล่าวว่า สิ่งที่น่าห่วงในขณะนี้คือหากมีฝนตกน้อยในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม
อาจเกิดสถานการณ์ภัยแล้งอย่างหนักในประเทศไทย กระทบกับพื้นที่เพาะปลูกในภาพตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางอย่างหนัก อีกทั้งมีการพร่องน้ำในเขื่อนไว้อาจทำให้ไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ซึ่งหลายสำนักพยากรณ์ในต่างประเทศก็ระบุไว้ว่าบริเวณประเทศไทยจะเกิดสถานการณ์เอลนิโน
ประธานกรรมการมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยังกล่าวด้วยว่า ในระยะ 8-9 ปีนับจากนี้ ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการป้องกันใด ๆ จะทำให้น้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลภายในเวลาไม่ถึง 10 ปีนับจากนี้ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ก็ยังเป็นไปตามลำดับดังกล่าว สังเกตได้จากชายหาดหลายแห่ง เริ่มมีระยะสั้นลงเรื่อย ๆ เนื่องจากน้ำทะเลสูงขึ้น สำหรับแนวทางที่จะป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าว คือจะต้องมีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเลระยะทาง 90 กิโลเมตร จากบริเวณอำเภอชะอำ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนถึงบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อปิดปากแม่น้ำสำคัญทั้งแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง
นายสมิทธ ยังกล่าวถึงการให้ความองค์ความรู้แก่เยาวชนในการเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง
เพราะเยาวชนจะถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังครอบครัวอีกด้วย โดยรัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการซักซ้อมรับภัยพิบัติทุกรูปแบบ ทั้งในโรงเรียนและในชุมชนเพื่อให้ประชาชนรู้จักเตรียมตัวพร้อมเผชิญภัยตลอดเวลา.-สำนักข่าวไทย
สมิทธ ชี้ต้องจับตาพายุ ส.ค.-ก.ย.ชี้ชัดไทยท่วมหรือแล้ง
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ภัยพิบัติ สมิทธ ชี้ต้องจับตาพายุ ส.ค.-ก.ย.ชี้ชัดไทยท่วมหรือแล้ง
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!