วานนี้ ( 20 มิ.ย. ) ศ.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาภัยพิบัติฯ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า
ตนยังมีความกังวลแม้ปีนี้ปรากฎการณ์ลานีญา ที่ทำให้เกิดฝนตกหนัก และวิกฤตน้ำท่วมในปีที่แล้ว จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในปีนี้แล้ว แต่จากสถิติพบว่าปีหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ มักจะเกิดพายุไต้ฝุ่นพัดเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง และจะก่อให้เกิดเหตุน้ำท่วมในภาคกลางได้อีก ขณะนี้มีพายุเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก 4 ลูก พายุไต้ฝุ่นลูกที่ 3 ชื่อว่าพายุไต้ฝุ่นกูโชล กำลังพัดเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นในขณะนี้ ส่วนลูกที่ 4 ชื่อพายุโซนร้อนตาลิมกำลังก่อตัวขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่น คาดว่าจะเคลื่อนตัวไปที่เกาะไต้หวัน ซึ่งจะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย ส่วนช่วงเวลาที่พายุมักพัดเข้าประเทศไทยคือเดือน ส.ค. หรือ ก.ย. ขณะที่ระบบป้องกันน้ำท่วมภาคกลางอาจมีปัญหา ถ้าถูกพายุไต้ฝุ่นพัดถล่มโดยตรง
นายรอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กล่าวว่า ปีนี้จะมีการจัดการจราจรน้ำดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว
เพราะใช้ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ มาช่วยแก้ปัญหามากขึ้น แต่สถานการณ์น้ำท่วมที่เริ่มขึ้นในภาคเหนือตอนล่าง และภาคใต้ ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว จากการคาดการณ์จากแบบจำลองของสถาบันระบุว่า ฝนจะเบาบางลงนับตั้งแต่วันนี้ จึงยังไม่เกิดน้ำท่วมซ้ำบริเวณ จ.แพร่ สุโขทัย และพิษณุโลกในระยะนี้ ปีนี้ปริมาณฝนทั้งปีจะอยู่ระดับ 1,500 มิลลิเมตร น้อยกว่าปี 2554 ที่มีปริมาณมากถึง 1,800 มิลลิเมตร ดังนั้นปัญหาอุทกภัยในปีนี้จะไม่มากแต่จะท่วมในพื้นที่เสี่ยงเท่านั้นเช่นริมแม่น้ำ พื้นที่ราบลุ่มภาคกลางอยู่แนวลำน้ำ แต่อย่างไรระยะเวลาการท่วมจะสั้นลงอาจท่วมเป็นสัปดาห์ ไม่ท่วมขังนานเป็นเดือนเหมือนที่ผ่านมา เพราะได้แก้ปัญหาการระบายน้ำล่าช้าได้เกือบหมดแล้ว โดยเฉพาะการเก็บกักน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่
ขอเตือนว่าในสัปดาห์หน้า ภาคกลางจะเกิดฝนตกหนักอีก ทั้งนี้จะเกิดสถานการณ์อุทกภัยหรือไม่ ขณะนี้ระบบการเตือนภัย ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลจากดาวเทียมตรวจสภาพอากาศจะทำให้การคาดการณ์ได้ล่วงหน้าและแจ้งเตือนได้ก่อนถึง 7 วัน.