ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 55 นายคมสัน สุวรรณอัมพา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่
เปิดเผยว่า ทางปภ.เตรียมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยในช่วงฤดูฝนนี้ ได้แก่บริเวณดอยผ้าห่มปก อำเภอฝาง อุทยานแห่งชาติออบขาน อำเภอหางดง รวมถึงไปอำเภอแม่แตง และอำเภอแม่แจ่ม ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติมาก่อน โดยมีการอบรมให้ความรู้กับชาวบ้าน ในการช่วยเหลือตนเอง ตลอดจนจัดเตรียมมิสเตอร์เตือนภัยให้มีความพร้อมในการแจ้งเตือนหากเกิดเหตุ รวมถึงจัดเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมในการให้ความช่วยเหลือยามเกิดเหตุการณ์
นอกจากนี้ยังคงเฝ้าระวังพื้นที่อีก 22 อำเภอ 243 หมู่บ้าน
ที่ทางจังหวัดได้ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค ในการติดตั้งระบบเตือนภัยน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม โดยมีการแจ้งเตือนภัยผ่านระบบเอสเอ็มเอฟ ไปยังผู้ใหญ่บ้าน ปภ. และผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งจะทำให้การช่วยเหลือรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันทางจังหวัดเชียงใหม่ ก็เตรียมแผนในการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และการให้การช่วยเหลือชาวบ้านไว้แล้ว
ซึ่งเป็นการช่วยเหลือออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ระดับที่ 1 ให้ทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่เป็นผู้ให้การช่วยเหลือชาวบ้านหากได้รับความเดือนร้อน ระดับ 2 หากองค์การปกครองในพื้นที่ไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้ให้ส่งเรื่องมายังอำเภอ หรือ จังหวัดเพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป ระดับ 3 จังหวัดไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ ให้ส่งเรื่องมายังกระทรวงมหาหาดไทย และระดับ 4 หากเหตุการณ์รุนแรงจนกระทรวงมหาดไทยไม่สามารถช่วยเหลือได้ เรื่องดังกล่าวจะถูกส่งไปยังนายกรัฐมนตรี ในการให้ความช่วยเหลือ
นายคมสัน กล่าวอีกว่า ระบบเตือนภัยดังกล่าวคาดว่าจะติดตั้งระบบการแจ้งเตือนให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้
ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจสอบการติดตั้งระบบเตือนภัยน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม ที่บริเวณบ้านม้ง -ดอยปุย ตำบลสุเทพ พร้อมแนะนำว่าในอนาคตควรมีการติดตั้งระบบไซเรน หากปริมาณน้ำฝนเกิน 100 มิลลิเมตร เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่รับทราบและมีการเคลื่อนย้ายไปอยู่ในที่ปลอดภัย ซึ่งจะรวดเร็วกว่าการแจ้งเตือนไปยังผู้ใหญ่บ้านเพียงคนเดียว รวมทั้งควรติดตั้งการวัดแรงสั่นสะเทือน หากเกิดแผ่นดินไหวด้วย โดยทางปภ. เชียงใหม่ จะได้มีการประสานไปยังศูนย์เทคโนโลยีอิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ต่อไปว่าจะดำเนินการติดตั้งได้หรือไม่