เตือนจับตา2รอยเลื่อน ระนอง-เพชรบูรณ์

วานนี้ (17 เม.ย.) เมื่อเวลา13.30 น. ที่กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

นายนิทัศน์ ภู่วัฒนกุล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี พร้อมด้วยนายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผอ.สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกันแถลงข้อเท็จจริงการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.3 ริกเตอร์ ที่ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต  โดยนายนิทัศน์ กล่าวว่า การเกิดแผ่นดินไหวที่ จ.ภูเก็ตเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ อ. ถลาง มีขนาด 4.3 ริกเตอร์  ซึ่งถือเป็นแผ่นดินไหวบนบกขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในภาคใต้ของไทย และยังเกิดแผ่นดินไหวตามหรืออาฟเตอร์ช็อกจำนวน 5 ครั้ง ขนาด 2.1-2.7 ริกเตอร์ จนทำให้มีบ้านเรือนเสียหายกว่า 30 หลังคาเรือน

สาเหตุของแผ่นดินไหวครั้งนี้มาจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ที่กินพื้นที่ตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ และพังงา ตามแนวระนาบแบบเหลื่อมซ้าย

ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าวถือว่าประเทศไทยโชคดีที่เป็นเกิดแผ่นดินไหวตามแนวนอน ผลกระทบจึงไม่เกิดขึ้นมาก  ที่สำคัญการเกิดแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ อ.ถลาง เป็นการเกิดแผ่นดินไหวในเวลาใกล้เคียงกับการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.7 ริกเตอร์ ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตราประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งไม่ใช่แผ่นดินไหวตามกันหรืออาฟเตอร์ช็อกแต่อย่างใด เนื่องจากการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.7 ริกเตอร์ที่ประเทศอินโดนีเซีย ไม่สามารถส่งผลกระทบทำให้บ้านเรือนใน พื้นที่จ.ภูเก็ตสั่นไหวจนรู้สึกได้ทั้งจังหวัดได้


เตือนจับตา2รอยเลื่อน ระนอง-เพชรบูรณ์

นายนิทัศน์ กล่าวอีกว่า  ทั้งนี้ยืนยันว่าเหตุการณ์เกิดแผ่นดินไหวที่ จ.ภูเก็ตนั้น ภาครัฐไม่ได้ปกปิดข้อมูลต่อประชาชน
 
แต่เป็นเพราะต้องเช็ครายละเอียดให้แน่นอนก่อน เนื่องจากข้อมูลเรื่องแผ่นดินไหวเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือและกระทบกับชีวิตของประชาชน ดังนั้นการจะประกาศข้อมูลใดออกไปจะต้องมีการตรวจสอบให้ละเอียดและรอบคอบก่อน อย่างไรก็ตามขอเตือนให้ประชาชนอย่าตื่นตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาการเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศอินโดนีเซียขนาด 8.6 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ได้มีประชาชนหนีจากอาคารสูงลงทางลิฟท์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อเกิดแผ่นดินไหวไฟฟ้าอาจจะถูกตัดเมื่อไรก็ได้ ดังนั้นจึงจะต้องมีการออกประกาศเพิ่มเติมให้อาคารสูงมีบันไดหนีไฟ และให้ใช้ในกรณีที่เกิดไฟไหม้และแผ่นดินไหวด้วย

นอกจากนั้นในส่วนของอาคารสูงและเขื่อนนั้นเราไม่หนักใจ เพราะมั่นใจในเรื่องการออกแบบทางวิศกรรมที่รองรับกรณีการเกิดแผ่นดินไหว
 
โดยเฉพาะเขื่อนส่วนใหญ่ของกรมชลประทานที่ตั้งอยู่ตามแนวรอยเลื่อนอยู่แล้วและมีการวางระบบเตือนภัยอย่างเข้มข้น  แต่สิ่งที่เป็นห่วงคืออาคารบ้านเรือนของประชาชนทั่วไปที่สูงเพียง 1-2 ชั้น ที่อาจจะไม่ได้มีการออกแบบมาเพื่อรองรับการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีที่เกิดขึ้นในจ.ภูเก็ต ที่มีบ้านเรือนเสียหาย เสา กำแพงแตกร้าวไปกว่า 30 หลัง ซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหารือกันต่อไป
 

ด้านนายเลิศสิน  กล่าวอีกว่า  การเกิดแผ่นดินไหวที่อินโดนีเซียเมื่อวันที่ 11 เม.ย. ขนาด  8.6 ริกเตอร์ และ 8.2 ริกเตอร์ที่เกิดตามมานั้น
 
เป็นแผ่นดินไหวคนละเหตุการณ์กันไม่ใช่แผ่นดินไหวตามหรืออาฟเตอร์ช็อกตามที่เข้าใจในตอนแรก  ซี่งการเกิดแผ่นไหว 2 ครั้งดังกล่าวส่งแรงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.3 ริกเตอร์ ที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งเกิดบริเวณแขนงของรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย  ทำให้กรมทรัพยากรธรณีต้องเฝ้าระวังกลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยความยาว 150 ก.ม.  และกลุ่มรอยเลื่อนระนอง ความยาว 270 ก.ม.  ซึ่งกินพื้นที่ตั้งแต่ จ.ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และพังงาเป็นพิเศษ   เนื่องจากทั้ง 2 กลุ่มรอยเลื่อน ถือว่าเป็นรอยเลื่อนที่มีการขยับตัวชัดเจน ทั้งยังเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง แม้แผ่นดินไหวส่วนใหญ่จะเกิดจากรอยเลื่อนหลักแล้วจึงส่งผลไปรอยเลื่อนแขนง แต่เมื่อรอยเลื่อนแขนงขยับตัวแล้วก็อาจจะส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวบนตัวรอยเลื่อนหลักได้เช่นกัน 
 

“จากการที่กรมทรัพยากรธรณีนำตะกอนดินของทั้ง 2 รอยเลื่อนไปตรวจสอบพบว่ามีการยกตัวของชั้นดินชัดเจน และเมื่อ 3,600 ปีที่ผ่านมา เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6 ริกเตอร์ ซึ่งมากที่สุดมาแล้ว  และจากวันนี้เป็นต้นไปแผ่นดินไหวที่เกิดจาก 2  รอยเลื่อนดังกล่าวนี้สามารถเกิดได้ทุกเมื่อ  แต่ขนาดจะไม่รุนแรงและเป็นแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง 5-6 ริกเตอร์เท่านั้น  เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกเหมือนกับประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์  และญี่ปุ่น จึงไม่สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้  แต่รอยเลื่อนในประเทศไทยเป็นรอยแตกของแผ่นเปลือกโลก จึงสามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงปานกลางเท่านั้น” นายเลิศสิน กล่าว
 

นายเลิศสิน กล่าวว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศเสี่ยงแผ่นดินไหว
 
แต่ความเสี่ยงแผ่นดินไหวของประเทศไทยก็ยังปลอดภัยที่สุดกว่าการเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นๆ ที่อยู่บนรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก  ดังนั้นประเทศไทยก็คงต้องเฝ้าระวังตามกลุ่มรอยเลื่อนต่างๆ ขณะนี้กรมทรัพยากรธรณีได้รวบรวมข้อมูลกลุ่มรอยเลื่อนล่าสุดเมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา โดยขณะนี้รอยเลื่อนทั้งหมดในประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่มีพลังทั้งหมด 14 รอยเลื่อน จากเดิม 13 รอยเลื่อน กระจายอยู่ใน 22 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน รอยเลื่อนเมย รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนเถิน รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนปัว รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนระนอง รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ส่วนรอยเลื่อนเดิมคือรอยเลื่อนท่าแขก จ. หนองคาย นครพนมและต่อเนื่องไปถึงประเทศลาว กรมทรัพยากรธรณีได้ตัดออกจากบัญชีรอยเลื่อนที่มีพลัง เพราะไม่มีการขยับตัวมา 30 ปีแล้ว อีกทั้งไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบในประเทศลาวได้ 

อย่างไรก็ตามได้เพิ่ม 2 รอยเลื่อนใหม่ที่มีพลังขึ้นมา คือ รอยเลื่อนแม่อิง จ.เชียงราย และ พะเยา  และรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ 

แต่ขณะนี้รอยเลื่อนระนองและคลองมะรุ่ย ถือเป็นรอยเลื่อนมีพลังที่ต้องจับตาและเฝ้าระวังมากที่สุด  ทั้งนี้เหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ 2 ครั้งล่าสุดที่ประเทศอินโดนีเซีย จะส่งผลกระทบไปถึงรอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์เท่านั้น โดยอาจจะทำให้เกิดหลุมยุบในบริเวณแนวรอยเลื่อนเหล่านี้มากขึ้น เนื่องจากพื้นที่มีสภาพเป็นหินปูนและแผ่นดินไหวส่งผลต่อระบบน้ำใต้ดิน แต่ไม่ใช่ตัวเร่งให้เกิดแผ่นดิน ส่วนรอยเลื่อนอื่นที่เหลือไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด.

 


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์