วันนี้(2 ธ.ค.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)ได้จัดประชุมวิชาการ พระราชดำริ:แสงส่องสู่ทางออกจากวิกฤติน้ำท่วม
ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์คอนเวชั่นเซ็นเตอร์ โดย รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานการศึกษาว่า สาเหตุหลักของอุทกภัย เกิดจากลักษณะและปริมาณฝน มากกว่าปกติ โดยไหลเข้าเขื่อนภูมิพลมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 54.5% ไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์ มากกว่าค่าเฉลี่ย 44% มีปัญหาจากการบริหารน้ำเพื่อการชลประทาน มีความเสียหายของอาคารบังคับน้ำระบบเตือนภัยไม่ทันการณ์ และการช่วยเหลือไม่เป็นระบบ
รศ.ดร.สุจริตกล่าวว่า ระบบการระบายน้ำโดยทั่วไปจะเน้นไปทางด้านทุ่งตะวันออก (ทุ่งรังสิต เขตมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง จังหวัดสมุทรปราการ)
แต่ครั้งนี้ ระบายไปทางตะวันตก (ย่านพุทธมณฑล ด้านฝั่งธนบุรี ) และคาดการณ์แนวโน้มว่า ทิศทางการระบายน้ำในอนาคตจะผลักไปทางด้านนี้ เนื่องจากทางด้านตะวันออกมี ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อีกทั้งการวางระบบป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม แบบใหม่ ด้วยคันกั้นน้ำสูง 4.50 เมตร จะทำให้น้ำสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาเนื่องจากระบบระบายน้ำลงทะเลในพื้นที่ด้านตะวันตกมีความสามารถเพียง 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่ปริมาณน้ำมีมากถึง 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ในที่สัมมนาเดียวกัน รศ.ชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เสนอวิธีบริหารจัดการอุทกภัยขนาดกลางและขนาดใหญ่ตามแนวพระราชดำริ กรณีลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยใช้การจัดการที่ไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง เช่นการ จัดทำแผน การแนะนำการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในพื้นที่น้ำท่วมถึง การวางกฎระเบียบ สำหรับการบริหารจัดการอุทกภัยขนาดใหญ่มาก โดยยึดหลักธรรมาภิบาล และการกำหนดการมีส่วนร่วมของประชาคมทุกภาคส่วน โดยจะต้องจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม สมดุลทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติอย่างพึ่งพา เกื้อกูล ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งอาจต้องพิจารณาการตั้งนิคมอุตสาหกรรมว่า เหมาะสมกับพื้นที่นี้หรือไม่ ควรใช้มาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างหรือใช้สิ่งก่อสร้างน้อยเป็นหลัก โดยกระจายความรู้เรืองธรรมชาติของน้ำหลากขนาดกลางและขนาดใหญ่ให้สาธารณชนรับทราบอย่างต่อเนื่องเป็นระบบเพื่อความเข้าใจและรับผิดชอบในปัญหาร่วมกัน
รศ.ชูเกียรติกล่าวว่า สภาพธรรมชาติของพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา จะเป็นพื้นที่น้ำจะหลากไหลลงทะเลที่อ่าวไทยผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน เป็นส่วนใหญ่
เมืองสำคัญตั้งอยู่ริมน้ำและตั้งอยู่ในเขตน้ำท่วมถึงโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ จึงมีโอกาสประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี