เมื่อ 24 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย
เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาวิกฤตน้ำ และวางแผนรับมือสถานการณ์น้ำ อาทิ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรมและ ผอ.ศปภ. ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. ผู้ว่าราชการจังหวัดปริมณฑล 6 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี ฉะเชิงเทรา และนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการกยน.
นายอานนท์ กล่าวว่า สำหรับการบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่ต่างๆ เข้าสู่ระยะสุดท้ายของวิกฤต และจะเริ่มปรับมาตรการในบางพื้นที่ที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายบ้างแล้ว
ฝั่งตะวันออก
ตั้งแต่ตลาดรังสิต-สำแล จะเริ่มเข้าสู่การฟื้นฟูหลังจากที่มีการซ่อมแนวคันกั้นน้ำและสูบน้ำออกจากพื้นที่ทำให้ปริมาณลดลง โดยคาดว่าจะดำเนินการได้หลังจากนี้ภายใน 1 สัปดาห์
บริเวณคลอง 1-6 อ.คลองหลวง อ.ธัญบุรี และบางส่วนของอ.วังน้อย จะประกาศให้ทำนาปรังในวันที่ 1 ธ.ค. เพื่อระบายน้ำออกจากคลองระพีพัฒน์แยกตก ทางประตูระบายน้ำคลอง 8-12 และภายในวันที่ 30 พ.ย.นี้ จะเปิดประตูระบายน้ำพระอินทร์ราชาเพิ่มเพื่อลดระดับน้ำในคลองรังสิตที่ปัจจุบันอยู่ที่ 3 ล้านลบ.ม. ให้ลดลง 3-4 ซ.ม.
อ.ลำลูกกา จะเปิดประตูระบายน้ำ คอลง 8-10 ในคลองหกวาสายล่างเพื่อระบายเข้าพื้นที่กทม. จึงขอให้กทม.เปิดประตูระบายน้ำแสนแสบช่วงมีนบุรีเพื่อรอรับน้ำที่จะไหลเข้ามา ซึ่งจะดำเนินการให้ได้ภายในวันที่ 30 พ.ย.นี้เช่นกัน จึงขอให้ประชาชนจ.ปทุมธานีสนับสนุนการทำงานศปภ. และช่วยกันซ่อมแซมคันกั้นน้ำเพื่อจะได้สูบน้ำออกได้
เมืองเอก-ดอนเมือง และเขตดอนเมือง หลักสี่ จะเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่วัดไผ่เขียวและปากคลองตาอูฐระบายน้ำลงคลองเปรมประชากร
ฝั่งตะวันตก จะเร่งระบายน้ำจากคลองทวีวัฒนาออกทางคลองขวางลงคลองราชมนตรี และปิดปากคลองที่จำเป็นในช่วงที่น้ำเจ้าพระยาต่ำกว่าตลิ่ง ซึ่งคาดว่าภายใน 7 วันจะจัดการกับน้ำได้ โดยระดมเครื่องสูบน้ำให้จ.นนทบุรีไปบริหารจัดการเพื่อสูบน้ำออกโดยเร็ว
ด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ทางกรมชลประทานเปิดประตูระบายน้ำ 24 ช.ม. ระบายน้ำออกทางประตูมหาสวัสดิ์ พระพิมล พระยาบันลือ ได้ถึง 70 ล้านลบ.ม. แต่ต้องดำเนินการเป็นพิเศษเพื่อบริหารจัดการน้ำโดยระบายน้ำในพื้นที่อ้อมน้อยผ่านคลองอ้อมน้อยลงคลองภาษีเจริญ
นอกจากนั้นเร่งวางแบริเออร์และกระสอบทราย ที่ต.ทรงคะนอง อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ซึ่งขณะนี้ได้ขนไปจากทำเนียบและพื้นที่อื่นๆแล้ว เพื่อเตรียมป้องกันสวนส้มโอ ที่มีพื้นที่อยู่เป็นจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากนี้ใครจะเป็นคนประสานงานเพื่อบูรณาการผลักดันงานแก้ปัญหาน้ำให้เดินหน้า เช่น การกู้ถนนสายหลัก ช่วงวงแหวน-บางประอิน จะดำเนินการเมื่อใด นายยงยุทธ กล่าวว่า ตนจะรับหน้าเสื่อบูรณาการเอง เพราะเหลืออีกแค่กทม.กับอีก 6 จังหวัด ปริมณฑลที่ยังมีปัญหาอยู่เท่านั้น
ส่วนการกู้ถนนนั้นตนก็จะรับไปประสานด้วยตัวเอง และจะเดินหน้าทำงานให้ทันก่อนวันมหามงคลของคนไทย เพื่อให้ทุกอย่างดูดีขึ้น เชื่อว่าพระบารมีจะช่วยทำให้ดีขึ้น
เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่าก่อนวันที่ 5 ธ.ค. ประชาชนสามารถใช้ชีวิตสัญจรได้ตามปกติ แม้ว่าน้ำจะยังไม่แห้งทุกพื้นที่ใช่หรือไม่ นายยงยุทธ กล่าวว่า ต้องทำสุดชีวิต ทุกหน่วยงานทุกองค์กร ต้องช่วยกัน