เว็บต่างชาติ ชี้ชาวบ้านควรมีสิทธิต่อรองกับกระบวนการป้องกันน้ำท่วมของภาครัฐ

เว็บต่างชาติ ชี้ชาวบ้านควรมีสิทธิต่อรองกับกระบวนการป้องกันน้ำท่วมของภาครัฐ

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน เว็บล็อกนิว แมนดาลา (นวมณฑล) ได้เผยแพร่บทความชื่อ "Negotiating the Flood" (การเจรจาต่อรองเรื่องน้ำท่วม) ที่เขียนโดยผู้ใช้นามว่า Aim Sinpeng


บทความชิ้นนี้เริ่มต้นด้วยคำถามว่า ผู้คนในแต่ละท้องถิ่นควรจะมีปากเสียงในกระบวนการก่อสร้างแนวคันกั้นน้ำ ตลอดจนโครงสร้างในกำกับควบคุมอุทกภัยอื่นๆ หรือไม่? และการตัดสินใจใดๆ ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ควรผ่านขั้นตอนเจรจาต่อรองระหว่างผู้มีอำนาจรัฐกับประชาชนก่อนหรือไม่?


จากนั้น บทความดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่าตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา มีปรากฏการณ์ที่หลายชุมชนในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ได้แสดงจุดยืนต่อต้านวิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของภาครัฐ และในหลายกรณี ประชาชนฝ่ายต่อต้านก็บรรลุเป้าหมายของตนเอง


Aim ตั้งคำถามว่า ชาวบ้านในชุมชนที่ต่อต้านวิธีการจัดการน้ำของภาครัฐเหล่านั้นมีความเห็นแก่ตัวหรือไม่? พวกเขาไม่คำนึงถึง "คนส่วนใหญ่" หรือเปล่า?


ก่อนจะให้คำตอบว่า เราคงไม่สามารถกล่าวโทษประชาชนเหล่านั้นได้อย่างสิ้นเชิง แน่นอน การรื้อถอนคันกั้นน้ำย่อมมีส่วนทำให้พื้นที่น้ำท่วมแพร่ขยายวงกว้างออกไปมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้มีอำนาจรัฐเองก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าการวางแนวคันกั้นน้ำในพื้นที่ต่างๆ จะสามารถป้องกันการไหลทะลักของน้ำได้จริง


เพราะคันกั้นน้ำบางแห่งก็ประสบความสำเร็จในการยับยั้งและเบี่ยงเบนทิศทางของน้ำ แต่คันกั้นน้ำอีกหลายแห่งก็ประสบกับความล้มเหลว ประสิทธิภาพของคันกั้นน้ำต่างๆ จึงไม่มีเสถียรภาพอันแน่นอน ขณะเดียวกัน ประชาชนที่อยู่อาศัยเหนือคันกั้นน้ำเหล่านั้นก็ต้องประสบกับภาวะน้ำท่วมขังเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนอยู่แล้ว


ผู้เขียนบทความชิ้นนี้เห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องรวมสาธารณชนเข้าไปเป็นผู้มีส่วนร่วมตัดสินใจรายสำคัญในกระบวนการบริหารจัดการอุทกภัย เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การตัดสินใจใดๆ ของผู้มีอำนาจรัฐในการก่อสร้างแนวคันกั้นน้ำต่างๆ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อประชากรบางส่วนโดยตรงอยู่แล้ว ประชาชนเหล่านั้นจึงสมควรที่จะมีสิทธิในการพูดจาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าว แม้สิทธิเช่นนั้นอาจส่งผลให้อำนาจรัฐไม่สามารถดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานที่ตนเองวางไว้ก็ตาม


Aim สรุปว่า หากเป็นไปได้ ผู้มีอำนาจรัฐควรจะเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ได้มีโอกาสเจรจาต่อรองกับแผนการจัดการน้ำของภาครัฐ ไม่ใช่ไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านเหล่านั้นมีทางเลือกอื่นใดเลย เพราะอย่างน้อยกระบวนการเจรจาต่อรองก็น่าจะส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจในสถานการณ์น้ำท่วมได้ดียิ่งขึ้น


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์