เวลา 17.00 น. วันที่ 14 พ.ย. ที่ศปภ. พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ. และม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. นายอานนท์ สนิทวงษ์ ณ อยุธยา คณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรง นายธงทอง จันทรางศุ โฆษกศปภ. ร่วมกันแถลงผลประชุม
นายธงทอง กล่าวว่า ที่ประชุมศปภ.หารือเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ชุมชนในเขตดอนเมืองมีปัญหาเรื่องแนวบิ๊กแบ็ก
ได้สรุปเห็นพ้องว่าตลอดแนวบิ๊กแบ๊กที่มีความยาว 22.8 กม. นั้นเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้อย่างยิ่ง แต่ตั้งแต่มีการสร้างแนวบิ๊กแบ๊กทำให้ชุมชนมีปัญหาในเรื่องการใช้เรือสัญจรไปมาระหว่างนอกและในแนวบิ๊กแบ๊ก จึงเกิดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยเปิดให้น้ำไหลผ่านและเป็นทางสัญจรเรือมีความกว้างประมาณ 6 เมตร ซึ่งภาครัฐรับทราบและไม่มีความวิตกกังวลว่าช่องทางน้ำไหลผ่านดังกล่าวจะเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาน้ำท่วมในภาพรวม โดยเฉพาะพื้นที่กทม.แต่อย่างใด ในขณะที่เมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมามีประชาชนในพื้นที่เรียกร้องขอให้ขยายช่องทางการสัญจรเรือในจุดเดิมเพิ่มขึ้นเป็น 10 เมตร ทำให้เกิดความวิตกกังวลโดยทั่วไปว่าอาจะเกิดการรื้อทำลายแนวบิ๊กแบ๊กให้เป็นระยะทางยาวมากไปกว่านี้ ก็อาจเป็นผลเสียอย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหาน้ำท่วมในภาพรวม
นายธงทอง กล่าวว่า ศปภ. กทม. และคณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำจึงร่วมกันหารือ
และเห็นร่วมกันว่าเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวมไปพร้อมกับคำนึงถึงความจำเป็นความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ จึงเห็นสมควรให้ปรับสภาพแนวบิ๊กแบ๊กในจุดดังกล่าวให้เป็นฝายน้ำล้นโดยให้มีช่องทางสัญจรเรือได้ในขณะเดียวกันด้วย
เฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ รายงานผลการหารือระหว่างรองปลัดกทม. และตัวแทนประชาชนเขตดอนเมือง ซึ่งมีความต้องการรื้อแนว "บิ๊กแบ๊ก" ออก ได้ผลสรุป3ข้อซึ่งจะนำเข้าที่ประชุมศปภ. ดังนี้
1.ถ้าการเปิดคันกั้นบิ๊กแบ๊กไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่กทม. ประชาชนดอนเมืองขอให้เปิดอย่างนี้ต่อไป
2.หากเปิดแล้วส่งผลกระทบต่อกทม. และพื้นที่ชั้นในกทม. ประชาชนพร้อมจะให้ปิดคันบิ๊กแบ๊ก แต่ขอให้เป็นลักษณะฝายน้ำล้นเพื่อให้น้ำได้ระบายและไม่เกิดภาวะน้ำเน่า
3.หากยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าคันกั้นจะสร้างปัญหาหรือไม่ให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างสำนักการระบายน้ำและตัวแทนประชาชน
ทั้งนี้ผู้ว่าฯกทม. เห็นว่าข้อ 2 จะเป็นทางที่ดีที่สุด เพื่อให้น้ำเคลื่อนไหวแบบชะลอตัว และไม่เน่าเสีย แต่จำเป็นต้องดูตามสถานการณ์ต่อไป