ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีถูกวิจารณ์ว่าไม่กล้าตัดสินใจและไม่มีภาวะผู้นำในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมว่า
ยืนยันว่ารัฐบาลกล้าตัดสินใจ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นบางครั้งไม่ได้มาจากด้านมวลชนอย่างเดียว แต่มาจากเทคนิคด้วย เช่น การตัดสินใจให้เปิดประตูระบายน้ำกี่ซม. ก็ต้องให้มีคณะทำงาน 3 ฝ่าย ที่ประกอบด้วย กรมชลประทาน กทม. และศปภ.ไปดูหน้างานจริง และตกลงทางเทคนิคกันให้ได้ก่อน รวมทั้งหารือกับมวลชนเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด เพราะเราจะยึดตัวเลขว่าจะต้องเปิดประตูกี่ซม.อย่างเดียวคงไม่ได้ จะทำให้คนปฏิบัติทำงานลำบาก ส่วนค่าชดเชยนั้น บางครั้งไม่ได้เป็นปัญหา แต่ประชาชนในพื้นที่รับน้ำเกิดภาวะเครียด เพราะระดับน้ำอยู่ที่คอแล้ว ทุกคนรู้สึกไม่มีความหวังว่าน้ำจะระบายได้เมื่อไหร่ บางคนก็รับไม่ได้ เราถึงต้องอธิบายให้เกิดความเข้าใจ
นายกฯ กล่าวว่า ปัญหาที่ต้องแก้วันนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ มวลชน ที่บอกว่ารัฐบาลไม่ยอมใช้อำนาจในการตัดสินใจ
ก็ต้องชี้แจงว่าการบังคับใช้กฎหมายไม่ยาก แต่วันนี้เราต้องทำเป็นขั้นตอน ต้องอธิบายให้เข้าใจข้อเท็จจริงก่อน จากนั้นถ้าทำไม่ถูกต้องก็ค่อยบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาตนก็ได้ใช้กฎหมายขั้นสูงสุด โดยนำมาตรา 31 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 มาบังคับใช้ไปแล้ว ซึ่งเดี๋ยวก็จะหารือในมาตรการต่อไป ถ้าจำเป็นต้องมีมาตรการต่าง ๆ หรือถึงขั้นที่ต้องออกกฎหมายบังคับใช้ก็ทำได้ เราไม่ได้นิ่งนอนใจ ละเลย หรืออ่อนแอในการตัดสินใจ แต่เป็นปัญหาด้านเทคนิค จึงต้องขอความเห็นใจจากสื่อมวลชนและประชาชนด้วย เพราบางครั้งปัญหามันมีหลายจุด แม้ว่าเราแก้จุดนี้สำเร็จ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะพ้นทั้งหมด เช่น กรณีการเปิดประตูคลอง 1 แม้เราจะเคลียร์มวลชนได้หมดแล้ว แต่น้ำเชี่ยวปิดประตูไม่ได้
นายกฯ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นวันนี้ไม่ได้มาจากการบริหารงานหรือการไม่กล้าตัดสินใจของรัฐบาล แต่มันเป็นปัญหาด้านเทคนิคด้วย
ซึ่งมาตรการมันต้องคุมหลายๆ ตัว ซึ่งช่วงนี้ระดับทะเลจะค่อย ๆลดลงทีละ 2-3 ซม. โดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำบอกว่าน้ำทะเลจะลดลงเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 8 พ.ย. ซึ่งเราก็มีความหวังว่าในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เร่งระบายน้ำในทุกส่วน อย่างคลองเสนแสบวันนี้ยังรับน้ำได้อีก แต่น้ำไม่ไป ก็ต้องเร่งระดมเครื่องผลักดันน้ำมาจากจุดต่าง ๆ
วันนี้เราสู้กับน้ำมาเยอะ เราต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกันเพื่อให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้า
แต่ต้องยอมรับความจริงว่าเราไม่สามารถจะหยุดน้ำได้ทุกจุด มันอาจจะต้องมีบ้าง แต่สิ่งสำคัญคือการเร่งระบายน้ำออกโดยเร็ว และเร่งฟื้นฟูประเทศให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ”นายกรัฐมนตรี กล่าว และว่าส่วนการตั้งกระทรวงน้ำขึ้นมาบริหารจัดการน้ำทั้งระบบนั้น ก็เป็นข้อเสนอหนึ่ง แต่สิ่งที่ตนจะเริ่มทำคือการวางแผนแม่บทหรือมาสเตอร์แพลนของประเทศ ซึ่งเรากำลังเตรียมงานตรงนี้กันอยู่ เพราะเป็นสิ่งที่ทั้งคนไทยและต่างชาติอยากเห็น เราต้องรวมผู้ที่มีความรู้จริงๆ มาหารือให้เป็นทิศทางเดียวกัน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังกล่าวอีกว่า ในการเดินทางไปร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 19 ที่เมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา
ระหว่างวันที่ 12-15 พ.ย. ก็ได้เตรียมแผนฟื้นฟูประเทศหลังน้ำลดไปชี้แจงต่อผู้นำประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นผู้ค้า ผู้ลงทุนกับไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น ทุกวันนี้ที่ไม่ได้ลงพื้นที่เพราะต้องเตรียมแผนฟื้นฟูอยู่ เพราะเป็นสิ่งเร่งด่วนที่ทั้งคนไทยและต่างประเทศอยากรู้ ซึ่งก่อนไปเอเปคจะพยายามให้คนไทยได้ทราบแผนที่ชัดเจน เมื่อถามว่าก่อนไปเอเปคคิดว่าสถานการณ์น่าจะขึ้นหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า “น่าจะดีขึ้น” เมื่อถามว่าหลังเสร็จวิกฤตน้ำจะมีการปรับครม.หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขอดูก่อน