นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวสรุปสถานการณ์การเสียชีวิตจากไฟฟ้าดูดในพื้นที่น้ำท่วมว่า
ขณะนี้มี 36 ราย ใน 15 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ชัยภูมิ นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก ลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี และอ่างทอง พบว่าจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ นนทบุรี 9 ราย ซึ่งพบว่าผู้ชายเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิง 2.6 เท่า อายุเฉลี่ย 44 ปี โดยผู้เสียชีวิตจากไฟดูดเกือบครึ่ง หรือร้อยละ 47 เกิดขึ้นภายในสัปดาห์แรกที่น้ำเข้าท่วม และเป็นการเสียชีวิตวันแรกที่น้ำท่วม ร้อยละ 11 แต่ก็มีบางรายที่เสียชีวิตหลังจากน้ำท่วมไปแล้วหลายเดือนซึ่งระยะเวลาที่นานสุดคือ 3 เดือน โดยร้อยละ 53 เสียชีวิตในบ้าน จากการสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้า ตู้เย็น ปั๊มน้ำ สายชาร์จโทรศัพท์มือถือ หรือ อุปกรณ์ที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ และร้อยละ 17 เสียชีวิตขณะเดินทาง ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกไฟดูดเพราะสัมผัสโดยตรง ตัวเปียกน้ำ มีเพียง 1 รายที่อยู่ห่างจากสื่อนำไฟฟ้า 1.5 เมตร
นพ.พรเทพกล่าวว่า ความจริงแล้วตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไฟฟ้าดูดอาจมากกว่าที่ได้รับรายงาน
เนื่องจากการลงพื้นที่พบปะจากชาวบ้านที่ประสบภัยยืนยันว่ามีการเสียชีวิตจากไฟดูดมากกว่าตัวเลขจริงถึง 2 เท่า หรือประมาณ 50 ราย เช่นในพื้นที่บางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เพราะบางคนถูกไฟดูดจมอยู่ในน้ำ เวลาไปชันสูตรศพก็จะรายงานว่าจมน้ำ แต่ก่อนจมน้ำคือถูกไฟฟ้าดูดก่อน นอกจากนี้ การช่วยเหลือผู้ที่ถูกไฟดูดก็ต้องระวัง เช่น มีรายงานว่าแม่เข้าไปช่วยลูกที่ถูกไฟดูดจนเสียชีวิตทั้งคู่ เพราะไม่รู้วิธีช่วยเอามือเข้าไปแตะตัวผู้ที่ถูกไฟดูด วิธีที่ถูกต้องคือใช้ผ้าคล้องหรือดึงตัวออกมาจากจุดที่มีไฟรั่ว อย่าใช้มือแตะตัวโดยตรงเด็ดขาดและผู้ที่จะเข้าไปช่วยร่างกายต้องไม่เปียกน้ำและต้องสวมรองเท้า