นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ กรรมการบริหาร บริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที ได้นำคณะสื่อมวลชนลงสำรวจพื้นที่บริเวณสถานีจตุจักร เพื่อตรวจสอบความคืบหน้าของมาตรการในการป้องกันน้ำท่วมของบริษัท
ภายหลังการสำรวจ นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้บีเอ็มซีแอลได้เฝ้าระวังสถานีรถไฟฟ้าที่ตั้งอยู่นอกคันกั้นน้ำ
ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมรวมจำนวน 6 สถานี คือ สถานีบางซื่อ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับ คลองประปา และคลองเปรมฯ โดยมีระยะห่างเพียง 500 เมตร สถานีกำแพงเพชร สถานีจตุจักร สถานีพหลโยธิน สถานีลาดพร้าว ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับคลองลาดพร้าว และสถานีเพชรบุรี ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับคลองแสนแสบ ซึ่งล่าสุดปริมาณน้ำยังอยู่ในระดับปกติ ไม่น่าเป็นห่วงและยังไม่พบว่าน้ำไหลเข้าท่วมบริเวณสถานีของเอ็มอาร์ทีแต่อย่างใด โดยเอ็มอาร์ทียังเปิดให้บริการประชาชนตามปกติ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้บริการ บีเอ็มซีแอล ได้จัดทำแผนเผชิญเหตุไว้เรียบร้อยแล้วหากมีปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้น
สำหรับแผนเบื้องต้นได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังปริมาณน้ำในคลองต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณใกล้เคียงสถานีของเอ็มอาร์ที ทุก ๆ 15 นาที และประสานข้อมูลปริมาณน้ำร่วมกับกรุงเทพมหานคร รวมทั้งดำเนินการติดตั้งผนังแผ่นโลหะซึ่งมีความสูง 1.50 เมตร ต่อจากบันไดทางขึ้นและลง บริเวณสถานที่มีความเสี่ยง เพื่อเสริมแนวป้องกันน้ำท่วมให้สูงขึ้นอีก ซึ่งแผ่นโลหะมีความยืดหยุ่นสามารถรองรับแรงดันน้ำได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้บริเวณทางเข้าออกสถานีทุกแห่งยังมีการออกแบบการก่อสร้างที่ช่วยป้องกันปัญหาน้ำท่วมไว้อยู่ก่อนแล้ว
ซึ่งจะเห็นได้ว่าก่อนที่ผู้โดยสารจะเดินเข้าไปยังสถานีจะต้องเดินขึ้นบันไดปูน 8 ขั้น ก่อนที่จะเดินลงไปยังสถานีภายใน ซึ่งบันใดดังกล่าวเปรียบเสมือนพนังกั้นน้ำชั้นแรก ที่มีระดับความสูงจากระดับทางเท้าประมาณ 1.20 เมตร เมื่อบวกรวมกับความสูงของพนังโลหะที่ติดตั้งเพิ่มเติมทำให้ปัจจุบันรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีมีความสามารถในการป้องกันน้ำท่วมได้สูงถึง 2.70 เมตร จากระดับพื้นทางเท้า ซึ่งตามแผนเผชิญเหตุระบุว่าหากพบว่ามีน้ำไหลเข้าท่วมบริเวณสถานีสูงถึง 60 เซนติเมตร จากระดับพื้นทางเท้า รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีจำเป็นต้องประกาศหยุดการเดินรถทันที เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร
นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ บริษัทยังมีมาตรการเตรียมการแก้ไขปัญหากรณีหากมีน้ำซึมเข้ามาบริเวณสถานี
โดยระบบได้มีการออกแบบรางดักน้ำไว้แล้วภายในสถานี หากพบว่ามีน้ำไหลรั่วซึมเข้ามาน้ำจะไหลลงมารวมกันที่รางดักน้ำและไหลลงสู่บ่อพักน้ำรวมภายในสถานีซึ่งมีสามารถในการรองรับน้ำได้มากถึง 10 คิวบิกเมตร จากนั้นก็จะดำเนินการสูบน้ำออกจากสถานีต่อไป
ส่วนกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลเข้าท่วมอย่างรวดเร็วนั้น รถไฟฟ้าจะหยุดให้บริการ
และเร่งอพยพผู้โดยสารออกจากขบวนรถโดยเร็วที่สุด ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอพยพ ไม่เกินครึ่งชั่วโมง แต่หากเป็นกรณีเกิดระบบไฟฟ้าของขบวนรถขัดข้องหรือดับลงกะทันหัน โดยเฉพาะกรณีที่ขบวนรถไม่ได้จอดอยู่บริเวณสถานีที่สามารถอพยพผู้โดยสารออกมาได้ทันทีนั้น ผู้โดยสารจะไม่ติดค้างระหว่างทางแน่นอน เนื่องจากรางของระบบรถไฟฟ้ามีการออกแบบเป็นลักษณะที่ลาดชันลดหลั่นกัน ขบวนรถสามารถเคลื่อนและวิ่งไหลต่อไปได้อีกจนกว่าจะถึงสถานีถัดไป เพราะขบวนรถจะไม่หยุดทันทีที่ไฟดับลง
“เรามั่นใจว่าไฟฟ้าดับคงไม่ใช่ปัญหาของการเดินรถ เพราะขณะนี้เราได้เตรียมแผนเผชิญเหตุส่วนนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยสั่งให้รถไฟฟ้าทำการสำรองน้ำมันไว้ใช้สำหรับปั่นไฟฉุกเฉิน ซึ่งมีความสามารถในการปั่นสำรองไฟฟ้าไว้ใช้ได้นานถึง 24 ชั่วโมง หากสถานีส่งไฟฟ้ารัชดาภิเษกและบางกะปิเกิดปัญหาไม่สามารถจ่ายไฟฟ้ามายังขบวนรถ” นายชัยวัฒน์ กล่าว
นายชัยวัฒน์ กล่าวยอมรับว่าขณะนี้ปริมาณผู้โดยสารปรับลดลง เนื่องจากเป็นช่วงที่ กทม. เกิดปัญหาน้ำท่วม ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอม ทำให้จำนวนผู้โดยสารปรับลดลงเหลือวันละประมาณ 1 แสนคน จากปกติวันละ1.2-1.4 แสนคน .- สำนักข่าวไทย
รถไฟฟ้าใต้ดินเตรียมพร้อมรับปัญหาน้ำท่วม
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!