พล.ร.ท.นิรุทธ์ หงส์ประสิทธิ์ เจ้ากรมอุทกศาสตร์ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำที่ได้ตรวจสอบในวันนี้วัดระดับน้ำได้ 2.38 เมตร
ซึ่งต่ำกว่าที่ได้ประเมินไว้ คือ 2.50 เมตร ซึ่งหากในช่วง 1-2 วันนี้น้ำยังอยู่ในระดับ 2.30-2.40 เมตร ไม่เกิน 2.50 เมตรถือเป็นข่าวดีของกรุงเทพฯ เพราะหมายความว่า มวลน้ำเจ้าพระยาได้ลดลง ทั้งนี้มวลน้ำสูงสุดจะขึ้นอีกครั้งในวันที่ 29 ตุลาคมนี้ ซึ่งอาจจะสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 2.65 เมตร แต่เราได้ติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา ส่วนประชาชนที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้สังเกตความผิดปกติ หากสงสัยเกี่ยวกับรัศมีของน้ำที่อาจจะเข้ามาในเขตบ้านเรือนสามารถเข้าไปดูรายละเอียด ข้อมูลและแผนที่พื้นที่คาดการณ์ความเสียหายในเว็บไซต์ของกรมชลประทาน ขอยืนยันว่า ระดับน้ำจะไม่สูงถึงระดับ 3-4 เมตรตามที่มีกระแสข่าวออกมา ซึ่งคาดว่า ข้อมูลที่ออกมาอาจเป็นความคลาดเคลื่อนทางตัวเลข ซึ่งระดับน้ำในปัจจุบัน เชื่อว่า เรายังสามารถควบคุมได้
พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก แถลงว่า ขณะนี้กองทัพบกกระจายกำลังทหาร ยานพาหนะ ยุทโธปกรณ์
เร่งช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่มีน้ำเอ่อท่วมอย่างต่อเนื่อง และลาดตระเวนตรวจสอบพนังกั้นน้ำตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา และสถานที่ตั้งของระบบสาธารณูปโภคที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง โดยช่วงน้ำทะเลหนุนสูงสุดช่วงสุดสัปดาห์นี้ เราได้เตรียมเรือยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ ขนาด 90 ฟุต จำนวน 10 ลำ เพื่อใช้อพยพประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้ทันที หากเกิดเหตุฉุกเฉินในพื้นที่ กทม.ทั้งนี้กองทัพบกได้ส่งกองร้อยบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับหน่วยทหารของกองทัพบกประจำพื้นที่เข้าช่วยเหลือทันที โดยได้ใช้รถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่และเรือ ช่วยในการสัญจรบริเวณน้ำท่วมสูงใน ถ.แจ้งวัฒนะ ถ.พหลโยธิน ถ.รามอินทรา ถ.วิภาวดีรังสิต ถ.สายไหม ถ.จรัญสนิทวงศ์ ถ.บรมราชชนนี ถ.สิรินธร ถ.ราชดำเนินใน ถ.เจริญกรุง ถ.ทรงวาด โดยจะให้บริการจนกว่าปริมาณน้ำจะลดลง
ส่วนพื้นที่ 13 เขตริมฝั่งเจ้าพระยา กองทัพบกได้ส่งทหารไปเฝ้าระวังตามแนวริมน้ำเจ้าพระยาตลอด 24 ชั่วโมง
และจัดกำลังทหารเข้าแก้ไขสถานการณ์เป็นจุดๆเมื่อเกิดเหตุ นอกจากนี้ได้ส่งกำลังทหารเข้าช่วยจัดเรียงกระสอบทรายสร้างคันกั้นน้ำตามแนว ถ.วิภาวดีรังสิต บริเวณ สนามบินดอนเมืองระยะทาง 12 กิโลเมตร, สร้างแนวคันดินชั่วคราวในเขตบางซื่อและวัดแก้วฟ้าจุฬามณี เขตดุสิต, เสริมกระสอบทรายริมน้ำเจ้าพระยา และได้ส่งชุดเฝ้าระวังระดับน้ำในเขตพระนคร ประจำบริเวณ ท่าเทเวศน์,สามพระยา,ท่าพระจันทร์,ท่าช้าง เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำให้สามารถเข้าป้องกันและแก้ไขเหตุฉุกเฉินได้ทันที
ส่วนที่เขตบางพลัด กองทัพบกได้ส่งเรือเพิ่มเติมอีก 20 ลำให้บริการประชาชน พร้อมเร่งซ่อมพนังกั้นน้ำที่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 78-80
นอกจากนี้กองทัพบกยังส่งชุดลาดตระเวนเส้นทางจำนวน 6 ชุด แต่ละชุดประกอบด้วยกำลังพล 36 นาย ยานพาหนะ 6 คัน เพื่อตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำและช่วยเหลืออพยพประชาชนที่ตกต้างตามเส้นทาง ถนนติวานนท์จากห้าแยกปากเกร็ดถึงแยกปู่โพธิ์ , บริเวณจุดตัดคลองประปากับคลองรังสิตถึงฟิวเจอร์ปาร์ค และจากถนนพหลโยธินถึงแยกอนุสรณ์สถาน
ส่วนที่เขตสายไหม กองทัพบกได้ส่งรถยนต์บรรทุก 10 คัน เรือพาย 9 ลำ กำลังพล 80 นาย ช่วยเหลือขนย้ายประชาชนและสิ่งของจากซอยพหลโยธิน 54-64
และชุมชนเลียบคลอง 2 จำนวน 2,150 คน ไปยังศูนย์พักพิงเขตสายไหม ส่วนที่คลองหกวา กองทัพบกได้ใช้กำลังทหาร 5 กองร้อยบรรเทาสาธารณภัย เสริมแนวกระสอบของพนังกั้นน้ำร่วมกับสำนักงานเขต ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร พร้อมตรวจสอบและเสริมความแข็งแรงตลอดเวลา โดยขณะนี้ระดับน้ำต่ำกว่าพนังกั้นน้ำประมาณ 17ซม. ส่วนบริเวณคลองรังสิต กองทัพบกยังคงเข้าเสริมแนวคันดินตามแนวคลอง และได้ช่วยอพยพประชาชนจำนวน 900 คนจากศูนย์วิทยาศาสตร์รังสิต คลอง 6 ไปพื้นที่ปลอดภัย รวมทั้งยังคงใช้เรือกำจัดวัชพืชในคลองรังสิตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยของกองทัพบก 3 แห่ง ขณะนี้ยังคงให้การดูแลผู้ประสบภัยจากพื้นที่ กทม. พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี และ ปทุมธานี จำนวน 2,100 คน โดยกระจายตามหน่วยทหารดังนี้ ค่ายอดิศร จ.สระบุรี 1,200 คน ศูนย์สงครามพิเศษ จ.ลพบุรี 500 คน และ โรงเรียนนายร้อย จปร. จ.นครนายก 400 คน